วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระนิพนธ์เรื่องธรรมกาย



            ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงให้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้น เป็น การกระตุ้นให้คณะสงฆ์ในยุคนั้นเกิดความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยขึ้นมาก รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า พระเจ้า-บรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา เมื่อทรงพระเยาว์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษในห้องเรียนเดียวกับกรมพระยาวชิรญาณวโรรส๑ ในปี ๒๔๑๖ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธ-วรรณปรีชา ทรงผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปวเรศวชิรยาลงกรณ์๒ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทว)  เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ สมัยรัชกาลที่ ๕) เป็นผู้ถวายศีลให้ และในปี ๒๔๒๓ พระองค์ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอีกเป็นเวลา ๑ ปี

            จากข้อความข้างต้น จะพบว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้ศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนาจากครูบาอาจารย์ ที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือที่มีชื่อว่า แก่นไตรภพ เพ็ชรในหิน วิวิธธัมโมทัย มฤตยูกถา หรือมรณานุสสร ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมกาย     ดังนี้ (ดูฉบับสมบูรณ์ได้ที่ภาคผนวก หน้า ผ๒๑๕-ผ๒๓๓)

            ๑.ในเรื่อง แก่นไตรภพ เป็นคำ ปุจฉาวิสัชนา  เรื่องกายและใจ พระองค์ชอบในการแต่งบทประพันธ์เป็นอันมาก ได้ทรงประพันธ์โคลง สุภาษิต แซกแก่นไตรภพ บทที่ ๕๔-๕๕ โดยได้เอ่ยอ้างถึงคุณสมบัติของธรรมกาย โดยตั้งชื่อว่าบทธรรมกายอาทิพุทธ ดังนี้  (หน้า๕๓)


            ๕๔ อ้าธรรมิสเรศวร์เรื้อง                     ไตรรัตน์

            เป็นเอกเป็นตรีชัด                                เดชล้น

            รักษานิกรสัตว์                                     เสพสุข  สวัสดิ์แฮ

            ที่พึ่งสูงสุดพ้น                                      ทั่วทั้งสงสาร


            ๕๕  เป็นประธานแก่สัตว์สิ้น              ทั้งหลาย

            ทุกชีพดุจภาคกาย                                หนึ่งแท้

            เป็นอยู่ไม่รู้ตาย                         ตลอดนิต  ยกาลนา

            โดยเดชธรรมกายแล้                            โลกเลี้ยงนับถือ

หน้า (๕๖)       

            ๖๔  เพิ่มพูนความเรียบร้อย                  สามัคคี

            ทั้งพิภพราตรี                                       แหล่งหล้า

            ไม่มากไม่น้อยมี                                   ส่วนเท่า กันนา

            เพราะฤทธิ์ธรรมกายอ้า                        เอกลํ้าเลิศคุณ

            ๒.ในเรื่อง เพ็ชรในหิน กล่าวถึงเรื่องสภาวะจิต ที่จะไปนิพพานได้ (หน้า ๑๐๐-๑๐๑) ข้อ ๓๖

             ...ผู้ปฏิบัติจะต้องอาศัยศรัทธาความเชื่อก่อน  ถ้าไม่เชื่อแล้วก็ไม่มีหนทางที่จะถึงนฤพานได้ แต่เมื่อทำจิตให้เชื่อนฤพานมีจริง เมื่อประกอบสติวิริยสมาธิแลปัญญาต่อไป จนถึงวิมุติและวิมุติญาณทัสนะเป็นที่สุดได้รู้เห็นถึงพระนฤพานได้สมตามปรารถนา...  แสดงว่าพระองค์ เชื่อว่า นฤพานมีจริง สามารถไปถึงได้

            ๓.วิวิธธัมโมทัย เป็นเรื่องที่กล่าวถึงเรื่องของจิตต์ เรื่องของกาย ซึ่งในเรื่องวิวิธธัมโมทัย พระองค์ได้กล่าวถึงธรรม-กายไว้ชัดเจนมาก ดังนี้

            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวถึงคำว่าธรรมกายไว้ในหลายนัยใน
ไตรพิธกายหน้า ๒๑๔-๒๑๗ ความว่า  คนเรามีกายสามชั้น  คือ

            ๑.สรีรกาย กายที่แลเห็น ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

            ๒.ทิพยกาย คือ กาย ที่เป็นความรู้สึกภายใน ผันแปรไปตาม  กุสลากุศลธรรม แต่ไม่แก่ ไม่ไข้ 
แลไม่ตาย

            ๓.ธรรมกาย คือ กายที่เที่ยง ถาวร ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ไข้ ไม่ตาย  เพราะเป็นชาติอมตธรรม

            นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวถึงในตรีพิธกายว่า สัตว์ทั้งหลายมีกายสามชั้น  ในหน้า ๒๓๖-๒๓๗

ความว่า           ๑.รูปกาย  เป็นเปลือกชั้นนอก

                        ๒.นามกาย  เป็นเปลือกชั้นใน 

                        ๓.ธรรมกาย  เป็นแก่น   ไม่เกิด ไม่ตาย ไม่ผันแปร

            รูปกายย่อมเกิดและตาย  นามกายย่อมผันแปร  ธรรมกาย ไม่เกิด ไม่ตาย และไม่ผันแปร  
เป็นอยู่ตลอดกาลทุกเมื่อ

            หน้า ๒๓๖-๒๔๒ มีใจความว่า"ผู้ใดรู้เห็นแต่รูปกาย ก็เป็นแต่รูปกายเท่านั้น  ผู้ใดรู้เห็นถึงนามกาย ก็อาจเป็นนามกายก็ได้ แต่ต้องละทิ้งรูปกายเสียด้วย  ผู้ใดรู้เห็นธรรมกาย ผู้นั้นก็อาจเป็นธรรมกายได้  แต่ต้องละทิ้งกายอื่นๆ เสียให้หมดจึงจะเป็นธรรมกายแท้ เพราะธรรมกายเป็นธรรมชาติ  ไม่รู้จักตาย

            จากบทสรุปข้างต้น แสดงว่า พระองค์เชื่อว่าธรรมกาย เป็นแก่น เป็นกายที่เที่ยงแท้ เป็นอมตะ

            ๔.มฤตยูกถา หรือ มรณานุสสร เป็นเรื่องที่กล่าวถึงว่า คนเราตายแล้วไม่สูญ  อาจจะไปสุขคติ หรือ ทุคคติก็ได้ หน้า ๒๘๒ ความว่า  ...เมื่อทิพกายพรากออกจากสรีระกายแล้ว สรีระกายหรือกายเนื้อนั้น แม้จะมีอวัยวะครบถ้วน ก็ไม่สามารถรู้สึกและเห็นหรือได้ยินหรือไหวเคลื่อนตัวเองได้ 
จะมีอาการไม่ผิดอันใด กับก้อนดินหรือท่อนไม้  อาการตายก็คือทิพกายกับสรีระกายพรากจากกันนั่นเอง....

            หน้า ๒๘๖  ความว่า  ...ผู้ที่ไปสู่โลกทิพใหม่ จะรู้สึกตนเป็นสุขสำราญใจยิ่งนัก เพราะจะได้พบปะกับบุทคลที่คุ้นเคยรักใคร่กันมาแต่ก่อน...

            หน้า ๒๘๙ ความว่า  ...ฝ่ายผู้ที่อบรมสันดานด้วยบาปกรรมอันลามกนั้นเล่า ก็เท่ากับเป็นสัตว์นรกเสียแต่ยังเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อสิ้นชีพละโลกนี้ไป ก็จะเข้าถึงนิรยโลกโดยตรงเช่นเดียวกัน...

            แสดงว่า พระองค์ทรงเชื่อเรื่องว่า มนุษย์เราตายแล้วไม่สูญ ถ้ากายทิพหลุดออกจากสรีระกาย 
ชีวิตก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นั่นหมายถึงมนุษย์เราไม่ใช่มีเพียงกายเดียว แต่มีกายภายในคือ ทิพกาย 
ซึ่งเรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และผู้ตายสามารถไปสู่โลกทิพ หรือไปสู่นิรยโลกได้ ขึ้นอยู่กับบุญบาป
ที่ทำมา สมัยเมื่อเป็นมนุษย์

            จากหลักฐานที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวชัดเจนในเรื่องธรรมกาย 
มีผู้ตั้งสมุฏฐานว่าพระองค์ อาจจะได้เรียนเรื่องธรรมกาย จากหนังสือพระปฐมสมโพธิที่เรียบเรียงโดยสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว) และรวบรวมโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพราะในหนังสือพระปฐมสมโพธิมีการกล่าวถึงคำว่าธรรมกาย (ดูรายละเอียดในเรื่องธรรมกายในปฐมสมโพธิ ภาคผนวก หน้า ผ๑๒๐-ผ๑๓๙)  หรือพระองค์อาจจะลงมือปฏิบัติกัมมัฏฐาน จนรู้เห็นจริงว่ามีธรรมกาย ในตัวตนจึงได้ประพันธ์เขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมกาย ออกมาค่อนข้างชัดเจน แจ่มแจ้ง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น