วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

หลักฐาน"ธรรมกาย" ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค



            คัมภีร์วิสุทธิมรรค คือคัมภีร์ที่ชี้แนวทางแห่งความบริสุทธิ์ จัดเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเป็นผลงานชิ้นแรก ที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริงของท่านพระพุทธโฆษาจารย์เป็นคัมภีร์ที่ย่อพระไตรปิฎก แต่เป็นการย่อ
คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ เป็นคัมภีร์ที่เขียนขึ้นด้วยภาษาที่สั้นกระทัดรัดแต่ชัดเจน เป็นศูนย์กลางแห่งวิธีอธิบายเนื้อความพระไตรปิฎกอย่างสมบูรณ์ และต่อเนื่องกันโดยใช้วิธีการตามระบบพระอภิธรรม  โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น ได้กล่าวไว้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดวิสุทธิแก่ผู้ถือปฏิบัติตาม แม้ในมหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา)  ก็ได้กล่าวถึงคัมภีร์วิสุทธิมรรค
ไว้ว่า "เป็นคัมภีร์ที่ย่อความแห่งพระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาโดยแท้

            แต่ถึงแม้วิสุทธิมรรคจะสร้างความอัศจรรย์อย่างไร  ก็ยังมีหลายสิ่งในทุกสิ่งที่ยังเป็นภาระหนักในการตีความ   เพราะยังมีคำพูดที่ลึกซึ้งหรือมีคำอธิบายน้อยซึ่งอาจทำให้ผู้ศึกษาค้นคว้าเข้าใจไปต่างๆ ตีความกัน ไปต่างๆ อาจเป็นเหตุให้ถกเถียงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ท่านพระ-อาจารย์ทาฐนาคเถระ 
ชาวสิทธ-คามแห่งเกาะสีหฬ  ได้ตระหนักถึงภาระอันหนักหน่วงที่จะเกิดแก่กุลบุตรอนุชนรุ่นหลังจึง
ได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์ธรรม-ปาลเถระ แห่งพทรติตถวิหารเมืองนาคปัฏฏ์ ภาคใต้แห่ง
ชมพูทวีป (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือ ๑๕-๑๖) รจนาคัมภีร์อธิบายขยายความ วิสุทธิมรรคขึ้นมา

            ด้วยเหตุนี้ท่านอาจารย์ธรรมปาลเถระ  ผู้รจนาทั้งอรรถกถาและฎีกาอื่นๆ อีกจำนวนมาก จึงได้รจนาคัมภีร์ฎีกาของวิสุทธิมรรค  โดยตั้งชื่อว่า  ปรมัตถมัญชูสา (กรุสมบัติปรมัตถธรรม) โดยแบ่งเป็น  ๒ ภาค มีความยาวถึง ๘๘ ภาณวาร (๑,๗๖๐ คาถาเป็น ๑ ภาณวาร) ซึ่งยาวกว่าคัมภีร์วิสุทธิมรรคหลายเท่า

            อนึ่ง  คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายขยายความวิสุทธิมรรคนั้นมีอยู่   ๒   คัมภีร์ คือ คัมภีร์แรก อันได้แก่ ปรมัตถมัญชูสา ซึ่งนิยมเรียกกันว่า   วิสุทธิมรรคมหาฎีกา ส่วนคัมภีร์ที่รจนาขึ้นภายหลังนิยมเรียกว่า 
วิสุทธิมรรคจูฬฎีกา

            สรุปแล้วถ้าจะศึกษาวิสุทธิมรรค  (อรรถกถา)  ให้เข้าใจโดยทั่วถึงนั้น  จำเป็นต้องมีวิสุทธิมรรคมหาฎีกาไว้ประกอบการศึกษาด้วย

            ในหลักฐานวิสุทธิมรรคมีปรากฏคำว่า ธรรมกาย ๒ แห่ง โดยหลักฐานทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทย  ค้นจากฉบับมหามกุฎฯ ดังนี้

            คัมภีร์วิสุทธิมรรค (ดูหลักฐานฉบับสมบูรณ์ที่ภาคผนวก หน้า       ผ๑๐๐-ผ๑๐๖)

            ๑.วิสุทธิมคฺคสฺส  นาม  ปกรณวิเสสฺส  ปฐโม ภาโค (พุทฺธา-นุสฺสติกถา) ฉบับมหามกุฏฯ 
หน้า ๒๗๐

                         ภคฺคราโค ภคฺคโทโส              ภคฺคโมโห อนาสโว
                        ภคฺคสฺส ปาปกา ธมฺมา             ภควา เตน วุจฺจตี ติ

            ภาคฺยวตาย จสฺส สตปุญฺญลกฺขณธรสฺส รูปกายสมฺปตฺติ ทีปิตา โหติ. ภคฺคโทสตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติ. ตถา โลกิยสริกฺขกานํ พหุมตภาโว, คหฏฺฐปพฺพชิเตหิ อภิคมนียตา, อภิคตานญฺจ เนสํ กายจิตฺตทุกฺขา ปนยเน ปฏิพลภาโว, อามิสทานธมฺมทาเนหิ อุปการิตา, โลกิยโลกุตฺตรสุเขหิ จ สํโยชนสมตฺถตา ทีปิตา โหติ.
            พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็น (ภคฺคราโค) ผู้ทรงหักราคะ (ภคฺคโทโส) ผู้ทรงหักโทสะ (ภคฺคโมโห) ผู้ทรงหัก โมหะ เป็นผู้หาอาสวะมิได้ บาปธรรม ทั้งหลายพระองค์ทรงหักเสียสิ้นแล้ว เพราะเหตุนั้น บัณฑิตจึงถวาย  พระนาม ว่า พระภควา

            ก็แลความถึงพร้อมแห่งพระรูปกายของพระองค์ ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบุญลักษณะ (ลักษณะอันเกิดเพราะบุญ) นับด้วย ๑๐๐ เป็นอันท่านแสดงแล้วด้วยความที่ทรงเป็นผู้มีพระภาคย์ (คือบุญบารมี) ความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกาย เป็นอันแสดงด้วยความที่ทรงเป็น  (ภคฺคโทส) ผู้หักโทสะ ความเป็นผู้ที่ชาวโลกและคนใกล้เคียงทั้งหลายรู้จักมากก็ดี ความเป็นผู้ที่คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลาย พึงไปหามาสู่ก็ดี 
ความเป็นผู้สามารถในอันช่วย ขจัดทุกข์กายทุกข์ใจให้แก่เขาทั้งหลายผู้ไปหาก็ดี ความเป็นผู้ทำอุปการะเขาด้วยอามิสทานและธรรมทานก็ดี ความเป็นผู้สามารถในอันยังเขาให้ประกอบพร้อมไปด้วยโลกิยสุข และโลกุตตรสุขก็ดี ก็เป็นอันท่านแสดงแล้ว ด้วยพระคุณสมบัติ ๒ อย่างนั้น

             (วิสุทธิมรรคแปล ฉอนุสสตินิเทส (พุทธานุสสติ) ภาค ๑ ตอน ๒ ฉบับมหามกุฏฯ หน้า ๒๘๑) 

            ๒.วิสุทธิมคฺคสฺส นาม ปกรณวิเสสสฺส ทุติโย ภาโค (มรณสฺสติกถา) ฉบับมหามกุฏฯ หน้า ๘

            กถํ สมฺมาสมฺพุทฺธโตฯ โยปิ โส ภควา อสีติอนุพฺยญฺชนปฏิมณฺฑิตทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวิจิตฺรรูปกาโย สพฺพาการปริสุทฺธ สีลกฺขนฺธาทิคุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย ยสมหตฺตปุญฺญมหตฺถามมหตฺตอิทฺธิมหตฺปามหตฺตานํ ปารํ คโต อสโม อสมสโม อปฺปฏิปุคฺคโล อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ, โสปิ สลิลวุฏฺฐินิปาเตน มหาอคฺคิกฺขนฺโธ วิย มรณวุฏฺฐินิปาเตน ฐานโส วูปสนฺโต

            (พึงระลึก) โดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะอย่างไร? พึงระลึกโดยความเป็นพระสัมมาสัมพุทธะอย่างนี้ ว่า แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นใด มีพระรูปกายวิจิตรไปด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ 
มีอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ ประดับ มีพระธรรมกายสัมฤทธิ์ด้วยพระคุณรัตนะ มีสีลขันธ์    อันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวงเป็นอาทิ ทรงถึงฝั่ง (คือชั้นยอด) แห่งความมียศใหญ่ ความมีบุญมาก ความมีกำลังมาก ความมีฤทธิ์มาก และความมีปัญญามาก หาผู้เสมอมิได้ ทรงเสมอกับผู้ที่ไม่มีใครเสมอ หาผู้เปรียบมิได้ หาคนเทียบมิได้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ยังทรงรำงับ (ดับขันธ์) ไปโดยพลัน ด้วยหยาดฝนมรณะ ดุจกองไฟใหญ่มอดไป ด้วยหยาดน้ำฝนฉะนั้น

        (วิสุทธิมรรคแปล อนุสสติกัมมฐานนิเทส (มรณสติ) ภาค ๒ ตอน ๑ ฉบับมหามกุฏฯ หน้า ๑๓-๑๔)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น