วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559

เสี้ยวหนึ่งแห่งคุณธรรมของหลวงปู่


หลวงปู่เป็นบุคคลสำคัญที่หาได้
ยากยิ่ง ท่านมีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะ
นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพาน
ให้หมดก่อน แล้วท่านจึงจะเข้าพระนิพพานทีหลัง

การกล่าวถึงคุณธรรมของบุคคลผู้มี
จิตใจอันสูงส่งเช่นนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คน
ธรรมดาสามัญจะสามารถทำได้อย่างครบถ้วน
ดังนั้นเรื่องราวที่ยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้
จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของคุณธรรมความดี
งามของท่านเท่านั้น

๐ รักพระพุทธศาสนา
หลวงปู่ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาตั้งแต่แรก
บวช และตั้งใจที่จะเป็นพระแท้ ท่านจึงหมั่นฝึกฝนตนเอง
ทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติตลอดมา
ต่อมา เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
ท่านก็พากเพียรให้การศึกษาทั้งทางปริยัติและปฏิบัติแก่
พระภิกษุสามเณรในวัดปากน้ำ
ในด้านปริยัติ พระภิกษุสามเณรสามารถสอบ
นักธรรมและบาลีสนามหลวงได้นับร้อยรูป
ในด้านการปฏิบัติ มีพระภิกษุสามเณรจำนวนมาก
ที่มีผลการปฏิบัติธรรมที่ดี
นอกจากนี้ หลวงปู่ยังถวายภัตตาหารพระภิกษุ
สามเณรทุกวัน วันละประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งสมัยนั้น ใน
ประเทศไทยยากที่จะหาวัดไหนทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธ-
ศาสนาได้มากเหมือนวัดปากน้ำ
และด้วยความรักในพระพุทธศาสนา ท่านจึงให้การ
สนับสนุนพระสงฆ์ทั่วประเทศในด้านต่าง ๆ เท่าที่มีโอกาส
จะทำได้ เช่น มีส่วนร่วมในการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์และ
มหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งถือเป็นคุณูปการแก่การคณะสงฆ์
อย่างใหญ่หลวง

๐ รักการปฏิบัติธรรม
หลวงปู่ท่านใช้เวลาในชีวิตสมณะอย่างทรงคุณค่ายิ่ง
นับตั้งแต่วันแรกที่บวช ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมทุกวันตลอด
มา เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ท่านก็ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่
ของชีวิตให้กับการศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
ต่อมา เมื่อท่านตั้งโรงงานทำวิชชาขึ้น และมีผู้มาทำ
วิชชาทั้ง ๒๔ ชั่วโมง ท่านก็ควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเอง
มาโดยตลอด ทำให้ท่านมีเวลาพักผ่อนเพียงน้อยนิด แม้
ชราภาพแล้ว หรือแม้กระทั่งในยามอาพาธ ท่านก็ยังคง
ดูแลควบคุมการปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณร และแม่ชี

๐ มีความกตัญญูกตเวที
หลวงปู่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยความกตัญญูกตเวทิตา
ใครอนุเคราะห์ท่านก่อน ท่านไม่เคยลืมบุญคุณ และ
พยายามหาทางตอบแทน เช่น อุบาสิกานวม แม่ค้าขาย
ข้าวแกง ที่เคยจัดภัตตาหารเพลมาถวายท่านเป็นประจำ
สมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ ต่อมาอุบาสิกานวมชรา
และทุพพลภาพ ไม่มีผู้ใดดูแล หลวงปู่ท่านก็รับมาอุปการะ
ในส่วนของโยมมารดา ก่อนมาบวชท่านก็ตั้งใจ
หมั่นเพียรทำงานหาเงินไว้ให้โยมมารดา จนคาดว่ามากพอ
ที่โยมมารดาจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ต่อมาเมื่อ
โยมมารดาอายุมากขึ้น ท่านก็รับไปอยู่ที่วัดปากน้ำ สร้างที่
อยู่อาศัยให้และเลี้ยงดูอย่างดีตลอดชีวิต
นอกจากนี้ เมื่อสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสสทัตต-
มหาเถระ) ซึ่งเป็นผู้เห็นชอบให้หลวงปู่ไปเป็นเจ้าอาวาส
วัดปากน้ำเกิดอาพาธขึ้น หลวงปู่ก็สนองพระคุณด้วยการ
จัดภัตตาหารและรังนกจากวัดปากน้ำไปถวายทุกวัน โดยตั้ง
งบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ท่าน
ก็ให้คนลงเรือจ้างนำภัตตาหารไปถวาย เพราะสมัยนั้นการ
คมนาคมยังไม่สะดวก ต้องไปทางเรือ จึงต้องรีบออกเดิน
ทาง พอถึงวัดพระเชตุพนฯ ก็เช้าพอดี หลวงปู่สั่งให้ทำเช่นนี้
เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นำภัตตาหารไปถวายกลับมาถึง
วัดปากน้ำแล้ว ต้องรายงานให้ท่านทราบทุกวัน

๐ เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา
ในสมัยนั้น มีผู้คนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจาก
สถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปขอพึ่งบารมีหลวงปู่
ที่วัดปากน้ำ และด้วยความที่ท่านมีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความ
เมตตากรุณา เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไรมา ท่านจึงไม่
เคยปฏิเสธ และถามไถ่ทุกคนด้วยความห่วงใยเสมอว่า มา
จากไหน มาอย่างไร มากับใคร ถ้าท่านทราบว่า ผู้นั้น

ยากจนมาก มีเงินมาแค่พอเป็นค่าเดินทาง ไม่มีเงินพอที่จะ
ซื้ออาหารกิน ท่านก็บอกให้ไปกินอาหารที่โรงครัว ถ้าใคร
ไม่มีที่นอน หมอน มุ้ง ท่านก็สั่งให้ไวยาวัจกรจัดหาเครื่อง
นอนและที่พักให้ เมื่อช่วยรักษาโรคให้หายหรือทุเลา
เบาบางลงแล้ว ท่านก็สั่งให้ไวยาวัจกรจัดการเรื่อง
ค่าเดินทางกลับให้ด้วย
คราวหนึ่ง มีคนแก่ที่มาเรียนกัมมัฏฐานเอาปลาแห้ง
ตัวหนึ่งมาถวายท่าน เขาบอกท่านว่า เขามีแค่นั้น เพราะ
เป็นคนยากจน หลวงปู่หัวเราะชอบใจและพูดว่า เออ ให้
มันได้อย่างนี้ซีน่า นี่แหละเขาเรียกว่ารวยแล้ว มีเท่าไหร่
ถวายจนหมด เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า นางปุณณทาสีถวาย
แป้งจี่ทำด้วยรำแก่พระพุทธเจ้า ต่อมากลายเป็นคนมั่งมี
ปลาแห้งของเราตัวหนึ่งราคาสูงว่ารำมากนัก เป็นกุศลมาก
แล้วที่นำมาให้ต่อมา ชายคนนี้ขอร้องให้หลวงปู่บวชให้
เพราะไม่มีอัฐบริขารจะบวช หลวงปู่ก็จัดการบวชให้
สมปรารถนา

สำหรับพระภิกษุสามเณรในวัดปากน้ำนั้น ท่านมี
ความเมตตามากและคิดว่าทุกรูปเปรียบเสมือนลูกหลาน
เวลาท่านได้ลาภสิ่งใดมา ท่านก็มิได้เก็บไว้เพียงผู้เดียว แต่
นำออกแจกจ่ายโดยทั่วถึงกัน เพราะท่านต้องการให้ทุกคน
มีความสะดวกสบาย จะได้มีกำลังศึกษาเล่าเรียนและ
ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่
บางครั้งเวลามีพระภิกษุสามเณรมาขอจีวร ท่านก็
จะถามว่า จะเอาจีวรที่ท่านห่มไหม ถ้าใครเอา ท่านก็ถอด
ให้เลย ท่านบอกว่า ก็เราบวชให้เขา เราเป็นพ่อเขา เขาขอ
ก็ให้เขา

๐ กล้าหาญ
การเผยแผ่วิชชาธรรมกายของหลวงปู่ในสมัยนั้น
ถูกคัดค้านต่อต้านจากทั้งฆราวาสและพระภิกษุสงฆ์จำนวน
มาก เพราะในสมัยนั้นการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์
ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านปริยัติมากกว่าด้านปฏิบัติ และพระ
ภิกษุที่สนใจการปฏิบัติธรรมมักจะหลีกเร้นไปบำเพ็ญเพียร
ตามป่าเขาลำเนาไพร หลวงปู่จึงเป็นพระสงฆ์องค์แรกที่
กล้าสอนการปฏิบัติธรรมอย่างเปิดเผย ท่านกล้าพูดว่า ได้
ธรรมกายกล้าเอาวิชชาธรรมกายมาสอน ท่านจึงเป็นที่
เพ่งเล็งให้คนโจมตี แต่ท่านก็มิได้หวั่นเกรงย่อท้อต่อ
อุปสรรคใด ๆ ยังคงมุ่งมั่นเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป
เพราะท่านเล็งเห็นถึงอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นแก่
ชาวโลก

๐ เป็นครูที่ดี
หลวงปู่เป็นครูที่ดีเยี่ยม ดังจะเห็นได้ว่า พระธรรม-
เทศนาของท่านทุกเรื่องล้วนค้นคว้ามาจากพระไตรปิฎก มี
ที่มาชัดเจน ทำให้ผู้ฟังธรรมได้รับทั้งความเพลิดเพลินและ
ได้ความรู้อย่างลึกซึ้ง
เวลาสอนปฏิบัติธรรม ท่านก็พยายามหาวิธีสอนที่
เข้าใจได้ง่าย มีหนังสือแจก และมีอุปกรณ์การสอน อย่างเช่น
ภาพฐานที่ตั้งของใจทั้ง ๗ ฐาน เพื่อให้ศิษย์มีผลการปฏิบัติ
ธรรมที่ดี ทำให้ศิษย์ของท่านบรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมาก
ประการสำคัญ วิชาที่หลวงปู่สอนเป็นวิชชาชีวิต ที่
ช่วยให้ทุกคนมีความสุขที่แท้จริง และช่วยปิดนรก เปิด
สวรรค์ รวมทั้งเปิดหนทางพระนิพพานให้ หลวงปู่จึงเป็น
ครูที่หาใครเปรียบได้ยาก


๐ อดทนและขยันขันแข็ง
เมื่อหลวงปู่อายุได้เพียง ๑๔ ปีเศษ บิดาของท่าน
ถึงแก่กรรม ท่านเป็นลูกชายคนโตจึงต้องหาเลี้ยงครอบครัว
แทนบิดา ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักมากสำหรับเด็กวัยขนาด
นั้น แต่ท่านก็อดทนทำการงานด้วยความขยันขันแข็ง ทำให้
กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง จนถือเป็นพ่อค้าที่มีฐานะดีคนหนึ่ง
เมื่อไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านก็ต้องใช้
ทั้งความอดทนและความขยันขันแข็งเป็นอย่างมากในการ
พัฒนาวัดที่เกือบเหมือนวัดร้าง ให้เจริญรุ่งเรืองทั้งด้าน
ปริยัติและปฏิบัติ
ในเวลาอาพาธ ท่านก็ไม่ชอบให้ใครป้อนภัตตาหาร
ให้ เภสัชก็ไม่ชอบให้ใครป้อน ไม่ชอบให้ใครพยุง แม้กระทั่ง
สรงน้ำ เปลี่ยนผ้า ท่านก็ทำเอง และยังปฏิบัติกิจวัตรตาม
ปกติ ทั้งสอนภาวนา แจกพระของขวัญ และค้นคว้าวิชชา
ธรรมกาย จนกระทั่งอาพาธหนักทำไม่ไหวจึงหยุดภารกิจ
ทั้งหลาย

๐ เป็นคนจริง
ก่อนเดินทางออกจากวัดสองพี่น้องไปจำพรรษาอยู่
ที่วัดพระเชตุพนฯ หลวงปู่ได้ตั้งคัมภีร์ใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาวไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่ง และตั้งใจไว้ว่าจะ
ต้องแปลคัมภีร์ผูกนี้ให้ออก ถ้ายังแปลไม่ออก จะยังไม่หยุด
เรียน ซึ่งต่อมาท่านก็เรียนบาลีจนสามารถแปลคัมภีร์ผูกนี้
ออกจริง ๆ จึงหยุดเรียน
เมื่อไปอยู่ที่วัดปากน้ำแล้ว ท่านเคยพูดกับสมเด็จ
ป๋า (สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗) เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็น
พระสังฆราชไว้ไม่น้อยกว่า ๒๐ ปีว่า จะสร้างโรงเรียนขนาด
๓ ชั้น จุนักเรียนได้ ๑,๐๐๐ คน ๒ ชั้นล่างให้เรียนพระ
ปริยัติ ชั้นที่ ๓ จะให้เรียนธรรมปฏิบัติ

ต่อมาโรงเรียนพระปริยัติธรรมก็เกิดขึ้นในวัด
ปากน้ำจริง ๆ เป็นตึก ๓ ชั้น พร้อมด้วยเครื่องประดับ
ตกแต่งอย่างดีและทันสมัย มีห้องเรียนและห้องน้ำในแต่ละ
ชั้น และมีอุปกรณ์การศึกษาครบบริบูรณ์ดังที่ท่านได้ดำริไว้

๐ มีใจเด็ดเดี่ยว
ขณะที่ท่านไปเรียนหนังสือที่วัดพระเชตุพนฯ ท่าน
ออกบิณฑบาตวันแรกไม่ได้อะไรเลย วันที่สองก็ไม่ได้อะไร
ขณะนั้นท่านคิดว่าท่านเป็นผู้มีศีล จะอดตายเช่นนั้นหรือ
ถ้าจะเป็นอย่างนั้นท่านก็ยอมตาย ในเมื่อบิณฑบาตไม่ได้
ท่านก็ยอมอด ไม่ยอมฉันของอื่น และคิดว่าหากท่าน

มรณภาพไป ผู้คนก็จะพากันสงสารพระภิกษุสามเณร และ
จะพากันออกมาตักบาตร ซึ่งจะทำให้พระภิกษุสามเณร
ทั้งประเทศมีอาหารบิณฑบาตเพียงพอทุกรูป
เมื่อครั้งที่จำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง ใน
วันเพ็ญเดือน ๑๐ ระหว่างกลางพรรษาที่ ๑๒ ท่านตั้งใจ
ปฏิญาณตนยอมตายถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัม-
พุทธเจ้าบรรลุ ด้วยการทำความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยวไม่
อาลัยในชีวิต ทำให้ท่านได้บรรลุธรรมในคืนนั้นเอง

๐ รู้ค่าของเวลา
หลวงปู่ท่านรู้คุณค่าของเวลามาก ท่านไม่ยอม
ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ นับตั้งแต่เป็น
เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ท่านไม่เคยไปค้างคืนที่อื่นเลย และไม่
ยอมออกไปนอกวัด เว้นแต่มีกิจจำเป็นของสงฆ์ที่หลีกเลี่ยง
ไม่ได้เท่านั้น ในกรณีที่มีผู้นิมนต์ท่านไปฉันเพลนอกวัด
ท่านมักขอให้พระรูปอื่นไปแทน แต่ถ้ามีความจำเป็น
ต้องไปจริง ๆ ท่านก็จะไปเพียงชั่วครู่ แล้วรีบกลับ ซึ่งเรื่อง
นี้ท่านให้เหตุผลว่า เสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ
เวลาเทศน์สอนพระภิกษุสามเณร ท่านก็จะเตือนให้
ทุกรูปรู้จักใช้เวลาทุก ๆ นาทีอย่างคุ้มค่า เช่น ในเรื่องการ
ทำสมาธิ ท่านบอกว่า การทำใจให้หยุดนิ่งนั้น สามารถ
ทำได้ทุกเวลา ทุกโอกาส

๐ เคร่งครัดพระธรรมวินัย
หลวงปู่เป็นพระแท้ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่าน
เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นตัวอย่างที่
ดีแก่พระภิกษุทั้งหลาย แม้ในเวลาอาพาธท่านก็ยังคงรักษา
ศีลอย่างเคร่งครัดและปฏิบัติกิจภาวนาด้วย
ครั้งหนึ่ง มีคนเห็นว่าหลวงปู่ท่านอาพาธหนัก ฉัน
ภัตตาหารได้น้อย จึงสั่งให้แม่ครัวต้มข้าวให้เปื่อย บดให้
ละเอียด กรองด้วยผ้าขาว ใส่กระติกน้ำร้อนไปถวาย แต่
หลวงปู่ท่านไม่ยอมฉัน

๐ รักความสามัคคี
ในการอยู่ร่วมกัน หลวงปู่ท่านถือความสามัคคีเป็น
สำคัญ ทุกคนในวัดจะต้องมีวัตรปฏิบัติเหมือนกัน ทำสิ่งใด
ก็ต้องทำพร้อมเพรียงกัน ไม่ขัดแย้งกัน พระภิกษุสามเณร
และแม่ชีต้องลงสวดมนต์ทำวัตร ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อม
กัน แม้แต่การปลงผมของพระภิกษุสามเณรและแม่ชี ท่าน
ก็ให้ปลงวันเดียวกัน ถ้าผู้ใดไม่ปลงผมวันเดียวกับผู้อื่น ท่าน
จะพูดว่า แม้แต่หัวมันยังไม่สามัคคี แล้วใจจะสามัคคีกัน
ได้อย่างไร
ท่านกล่าวว่า ความสามัคคีในหมู่คณะทำให้เป็นสุข
หากไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หมู่คณะก็จะเจริญ และถ้ามี
ปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ก็สามารถแก้ให้ลุล่วงไปได้ด้วย
สามัคคีธรรม

๐ รักความสะอาดเรียบร้อย
หลวงปู่ท่านชอบความสะอาดเรียบร้อย ตัวอย่าง
เช่น เวลาจัดโต๊ะฉันภัตตาหารของพระภิกษุสามเณร ท่าน
ให้แม่ชีวางโต๊ะตั้งเป็นระยะ ๆ อย่างมีระเบียบ ให้ปูผ้า
ตรงกลาง วางแก้วน้ำ กาน้ำ แล้วเทน้ำใส่แก้วไว้ให้เรียบร้อย
ทุกอย่างท่านบอกว่าต้องทำให้สะอาด แล้วเวลาพระฉัน ก็
ไม่ให้คุยกัน ถ้าคุยกันท่านจะถามว่า ฉันข้าวหรือฉัน
เหล้า
ส่วนข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่านก็สะอาด
สะอ้าน และจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สบง จีวร
อังสะ สังฆาฏิ ที่ท่านนุ่งห่ม ต้องซักให้สะอาด

๐ มีระเบียบวินัย
วัดปากน้ำมีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมากจึงต้องมี
ระเบียบวินัยและมีกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ผู้ใดละเมิดกฎ
ประพฤติตัวไม่เหมาะไม่ควร หลวงปู่ก็จะว่ากล่าวตักเตือน
ถ้าทำผิดซ้ำ ท่านจะตักเตือนอีกครั้ง และถ้ายังกระทำผิด
อีกเป็นครั้งที่ ๓ ท่านจะสั่งลงโทษ เช่น ให้กวาดบริเวณวัด
บ้าง ตัดไม้ฟืนส่งโรงครัวบ้าง ถ้ายังกระทำผิดซ้ำอีก ท่านก็
จะให้ออกจากวัด

ดังนั้น พระภิกษุสามเณรวัดปากน้ำจึงต้องปฏิบัติ
ตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เช่น ทุกรูปต้องแต่งกาย
เรียบร้อย ห่มจีวรเหมือนกันหมด เวลาฉันภัตตาหาร พระ-
ภิกษุสามเณรที่ได้ธรรมกายต้องแยกไปนั่งอยู่อาสนะหนึ่ง
พวกที่ได้เปรียญธรรมนั่งอีกอาสนะหนึ่ง พระภิกษุทั่วไปนั่ง
อีกอาสนะหนึ่ง ไม่ปะปนกัน
ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบ และเพื่อให้สาธุชนรู้ว่า
วัดปากน้ำมีทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติ

๐ รักการศึกษา
หลวงปู่ท่านเห็นคุณค่าของการศึกษามาก ท่าน
สอนให้ลูกศิษย์รักการศึกษา ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ จะเรียน
ทางโลกก็ได้ ทางธรรมก็ได้ ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคน
ท่านมักจะกล่าวว่า คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็
ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ
กินใช้ไม่หมด
ถ้าใครไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ท่านจะกล่าวว่า
อ้ายโลกก็เหลว อ้ายธรรมก็แหลกเป็นแบกบอน เหลือแต่
กิน นอน เที่ยว สามอันเท่านั้นเอยคือ ทางโลกก็ไม่ได้
ทางธรรมก็ไม่ดี

๐ ประหยัด
เวลามีคนไปถวายผ้าไตรจีวรใหม่ หลวงปู่มักนำไป
แจกพระภิกษุสามเณร ตัวท่านเองใช้แต่ของเก่า พอเก่า
มาก ๆ ท่านก็ให้ซ่อมแซมเพื่อใช้ต่อไป
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ้าหายาก ท่านให้แม่ชี
เอาอังสะหลาย ๆ ตัวที่ไม่ค่อยได้ใช้มาเย็บต่อกันเป็นจีวร
แต่เนื่องจากอังสะแต่ละตัวมีสีไม่เหมือนกัน ดังนั้นจีวรที่
เย็บขึ้นมาจึงมีหลายสี เย็บเสร็จแล้วเอาไปแจกพระเณรรูป
อื่น ๆ ก็ไม่มีใครรับ หลวงปู่เลยใช้เอง ต่อมามีศิษย์ผู้หนึ่ง
ทนดูไม่ได้ เลยขอจีวรผืนนี้ไปบูชา

๐ รู้ค่าของเงิน
หลวงปู่ท่านเล่าว่า สมัยก่อนแก้วสารพัดนึกมีจริง
นึกจะเอาอะไรก็เอาได้ นึกจะทำอะไรก็ทำได้ แต่สมัยนี้
เหลือแต่เงินเท่านั้นที่จะเป็นแก้วสารพัดนึก ท่านบอกว่า
อย่าเห็นว่าเงิน ๑ บาท เป็นกระเบื้องที่ไม่มีค่า บาทหนึ่งก็
ซื้อขนมได้ อย่าประมาท อย่าดูถูกเงิน คนที่ดูถูกเงิน ตอน
หลังแทบจะถือกะลาขอทานก็มี
แม้หลวงปู่ท่านจะเห็นคุณค่าของเงินมาก แต่ท่านก็
ไม่จับเงิน ใครจะถวายเงินต้องไปหาไวยาวัจกร แล้ว
ไวยาวัจกรจะเขียนใบปวารณาให้ จากนั้นนำใบปวารณาไป
ถวายหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะทราบว่า คนนั้น คนนี้ ถวายเงิน
เท่านั้น เท่านี้


๐ รู้คุณค่าของสิ่งของ
หลวงปู่ท่านเป็นคนละเอียดลออ รู้ค่าของสิ่งของ
ทุกอย่างที่ญาติโยมนำมาถวาย แม้แต่ของเล็ก ๆ น้อย ๆ
อย่างเช่น เวลาเดินไปฉันภัตตาหาร ถ้าท่านเห็นข้าวสารที่
ผู้มีจิตศรัทธาบรรทุกเรือมาถวายตกอยู่แม้เพียงเล็กน้อย
ท่านจะเรียกเด็กมาเก็บ ท่านเห็นว่า ข้าวสารที่ตกหล่นอยู่
แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าเก็บมารวมกันหลาย ๆ ครั้ง ก็เป็น

จำนวนมากพอที่จะนำไปหุงได้
หรือเวลาเดินไปตามถนน ถ้าท่านเจอเศษไม้เป็น
ท่อน ท่านจะเก็บมาไว้ทำฟืน ผ้าขี้ริ้วที่ขาดแล้วท่านก็ไม่ให้
เอาไปทิ้ง เผื่อเวลามีอะไรรั่ว จะได้เอาผ้าขี้ริ้วนั้นไปชุบ
น้ำมันยางอุดเอาไว้ ซึ่งพอจะกันรั่วไปได้ระยะหนึ่ง
เวลาล้างจาน ทานก็บอกว่าให้ค่อย ๆ รินน้ำออก
เศษอาหารที่อยู่ก้น ๆ นำไปให้หมูให้หมากินได้

๐ รักการปฏิสันถาร
หลวงปู่ท่านมีปิยวาจา ท่านไม่พูดให้ผู้ใดกระทบ
กระเทือนใจ เวลาใครมีเรื่องเดือดร้อนมาปรึกษาท่าน ท่าน
ก็จะรับฟังและให้คำแนะนำที่มีประโยชน์แก่ทุกคน
นอกจากนี้ ท่านยังสั่งสอนศิษย์ไม่ให้พูดแบบมี
เหล็กใน คือไม่ให้ใช้วาจาทิ่มแทงใจผู้อื่น ให้พูดจา
ปฏิสันถารต้อนรับอย่างดี ท่านบอกว่า เขาจะได้นำมงคล
มาให้ แต่ถ้าเราปฏิสันถารไม่ดี เขาก็จะนำมงคลกลับไป
และทิ้งอัปมงคลไว้ให้

๐ ให้เกียรติคน
ทุกคนที่มาหาหลวงปู่จะได้รับการต้อนรับอย่าง
เสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ปกติเวลาออกรับแขก หลวงปู่
จะนั่งบนเก้าอี้ แขกทุกคนนั่งกับพื้นเสมอกันหมด ไม่ว่า
สามัญชนคนธรรมดา หรือผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งใหญ่
ขนาดไหนก็ตาม
หลวงปู่ท่านให้เกียรติทุก ๆ คน ไม่ชอบให้คนดูหมิ่น
กัน ท่านบอกว่าการดูหมิ่นเหยียดหยามกันแสดงให้เห็น
ถึงความไม่มีเมตตาในกันและกัน การดูหมิ่นกันจะทำลาย
ตัวเอง แม้คนใหญ่คนโตก็จะเดือดร้อนเพราะดูถูกดูหมิ่น
ผู้น้อย เนื่องจากความเกลียดชังของผู้น้อยสามารถทำลาย
ผู้ใหญ่ได้

๐ รักและเป็นห่วงลูกศิษย์
หลวงปู่ท่านรักและเป็นห่วงลูกศิษย์มาก ถ้าพระจะ
มรณภาพ ท่านก็จะไปนั่งคุมบุญให้ แม่ชีก็เช่นกัน ถ้าหาก
เสียชีวิตลง หลวงปู่ท่านก็จะคุมบุญให้ และจัดการศพให้
เรียบร้อย ท่านดูแลลูกศิษย์เป็นอย่างดี ขาดแคลนอะไร
ท่านหาให้ทุกอย่าง
ด้วยความเป็นห่วงลูกศิษย์ ก่อนที่ท่านจะมรณภาพ
ท่านเคยพูดไว้ว่า พวกเอ็งคอยดูนะ แม้เมื่อหลวงพ่อตาย
ไปแล้ว ก็จะเลี้ยงดูให้พวกเอ็งได้อิ่มหนำสำราญ ไม่ต้องกลัว
ขอเพียงให้ทุกคนตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งใจปฏิบัติกันให้จริงจัง
ซึ่งปรากฏว่า หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ก็ยังมี
คนมาสักการะกราบไหว้สรีระของท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่ง
หมายความว่ายังมีผู้คนจำนวนมากไปทำบุญที่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ พระเณรก็จะไม่ลำบากเรื่องการขบฉัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น