วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๙)



เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
 

      ช่วงกาลทานมหากฐิน ๑ เดือนนับจากหลังวันออกพรรษาถึงวันลอยกระทง ซึ่งเป็นฤดูกาลที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย เป็นที่ปลื้มปีติของชาวพุทธผู้รักการแสวงบุญสร้างบารมีทุกคน ในวาระอายุวัฒนมงคลได้ ๗๒ ปี ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มีโครงการทอดกฐินทั่วไทย โดยคณะศิษยานุศิษย์เป็นผู้แทนไปทอดตามวัดต่าง ๆ ทำให้เห็นคุณค่าของคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หล่อเลี้ยงจิตใจสาธุชน จนเนื่องไปถึงเศรษฐกิจของประเทศที่ทำให้เกิดภาวะฟื้นฟู ซึ่งเกิดจากความศรัทธาบริจาคสิ่งของอันควรแก่สมณบริโภค และถวายปัจจัยทำบุญให้แก่วัด พระสงฆ์ ซึ่งทางวัดก็จะได้มีกองทุนนำไปใช้ก่อสร้างหรือซ่อมแซมศาสนสมบัติที่ยังคงค้างอยู่ ในการนี้ ทีมงานนักวิจัยของสถาบันฯ DIRI นอกจากจะได้ไปทอดกฐินในวัดสำคัญ ๆ หลายแห่งและที่จังหวัดมหาสารคาม ก็มีโอกาสได้ไปเก็บข้อมูล และสานต่อการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมอีสานที่พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) และวัดหนองหล่ม ทำให้ได้ทั้งงานบุญและงานวิชาการไปพร้อม ๆ กัน

     สำหรับในฉบับที่แล้วนั้น ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านให้ย้อนกลับไปรู้จักกับประวัติศาสตร์ของ “พระธรรมจักรศิลา” และความเชื่อมโยงกันของการที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ กว่าปีล่วงมาแล้ว ซึ่งควรกล่าวได้ว่า “พระธรรมจักรศิลา” นี้ มีความสำคัญมาก เพราะศิลาหลักนี้ได้จารึกหลักธรรมของพระพุทธศาสนาไว้ให้เราศึกษาอย่างครบถ้วน นับตั้งแต่อริยสัจ (ความจริง ๔ ประการ) กระบวนการดำเนินไปของอริยมรรค ซึ่งนับว่าเป็น “ศิลาจารึก” ที่มีความเก่าแก่กว่าหลักฐานชิ้นใดที่บรรจุข้อความในลักษณะเดียวกันนี้

     ในคืนวันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ผ่านโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ซึ่งทั้งตัวผู้เขียนเองและคณะนักวิชาการของสถาบันฯ DIRI ต่างก็มีมติเห็นร่วมกันว่า ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชที่ยังไม่ได้นำมาขยายความอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในจารึก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทำให้มีกำลังใจในการสร้างบารมีสั่งสมบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป และเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงเป็นตัวอย่างของพระธรรมราชาธิราช ที่จรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้พระองค์หนึ่ง

     ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น หลังจากทรงทำสงครามเอาชนะแคว้นกลิงคะได้แล้ว พระองค์มิได้ทรงยินดีที่จะดำเนินนโยบายโดยใช้ความรุนแรงอีกต่อไป การณ์กลับเป็นว่า พระองค์ทรงหันมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ เนื่องด้วยมีพระราชศรัทธาในสามเณรนิโครธ และทรงตระหนักว่า การทำสงครามมิใช่หนทางที่นำไปสู่ชัยชนะที่แท้จริง เรียกว่าทรงเปลี่ยนจากพระราชาผู้กำชัยด้วยสงคราม (สายกวิชัย) มาสู่ความเป็น “ธรรมวิชัย” หรือ “ชนะโดยธรรม”ในที่สุด ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้ชัดถึงความจริงในข้อนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การศึกษาพิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่ในสมัยนั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ข้อถกเถียงในเรื่องเกี่ยวกับความแท้จริงของหลักฐานศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนั้น มีข้อยุติมาเนิ่นนานแล้วว่าทั้งหมดเป็นของจริง และข้อความในจารึกล้วนเชื่อมโยงกับพระพุทธศาสนาจริง

     จากศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนั้น1 พบว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นพระบรมราชโองการที่เกี่ยวกับการสร้างความผาสุกแก่ราษฎร การปรับปรุงแก้ไขพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในราชอาณาจักรให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต และการประกอบสัมมาอาชีพของราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทรงพยายามโน้มนำให้ราษฎรของพระองค์ก้าวมาสู่หนทางของพระพุทธศาสนา ซึ่งการที่ทรงปฏิบัติเช่นนี้ค่อนข้างชี้ชัดว่าทรงมีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม ที่ให้ความสำคัญแก่การปฏิบัติธรรมและความมั่นคงของพระพุทธศาสนามากเพียงใด

      จากการศึกษาร่วมกับคณะนักวิจัยและนักศึกษาของสถาบันฯ DIRI ที่ส่งไปศึกษาเกี่ยวกับจารึกโบราณของพระเจ้าอโศกมหาราชพบว่า ทรงมีเป้าหมายในการเป็นกษัตริย์แห่งธรรมจริงดังที่นักวิชาการหลายแขนงได้วิเคราะห์ ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราช“พระปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ” นั้นทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในยุคของพระองค์ดังที่ไม่เคยมีราชาแคว้นใดทรงทำมาก่อน แต่ประเด็นที่เราเห็นนอกเหนือไปจากนั้นก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราชมิได้ทรงมีจุดมุ่งหมายเพียงแต่การเป็น “กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของทวยเทพ” และของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังทรงมุ่งหวังที่จะเป็น “พุทธบริษัทที่ดี” ที่บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของการหลุดพ้นเช่นเดียวกับมหาราชาองค์อนื่ ๆ ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอีกด้วยดังจะเห็นได้จากพระบรมราชโองการฉบับหนึ่งของพระองค์ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า..

ศิลาจารึกฉบับน้อย ตอนที่ ๑ จารึกฉบับเหนือ

     พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

      “นับเป็นเวลาเกินกว่าสองปีครึ่งแล้ว ที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่ตลอดเวลา ๑ ปี ข้าฯมิได้ทำความพากเพียรใด ๆ อย่างจริงจังเลยและนับเป็นเวลา ๑ ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าหาสงฆ์ ข้าฯ จึงได้ลงมือทำความพากเพียรอย่างจริงจัง..”2

     จากข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดว่าพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น อาจจะทรงเริ่มศึกษาหลักธรรมและการปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาหรือทรงได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติธรรมมากขึ้นแล้ว แต่อาจยังไม่ก้าวหน้านัก จึงทรงตั้งพระ-ราชหฤทัยที่จะกลับมาทำให้สำเร็จอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นแล้ว เราอาจจะอนุมานได้ว่า คำจารึกนี้น่าจะเกิดขึ้นภายหลังจากการทำสงครามพิชิตแคว้นกลิงคะไม่นานนัก และเป็นช่วงที่กำลังทรงเริ่มศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนาในระยะแรก ๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อความในจารึกส่วนนี้แล้ว เมื่อได้พิจารณาข้อความใน “จารึกหลักศิลา” อื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ทำให้เราสามารถกล่าวได้ชัดเจนขึ้นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนั้น ทรงมีวิริยอุตสาหะ และทรงให้ความสำคัญกับธรรมปฏิบัติเพียงใด ดังข้อความตอนหนึ่งว่า ...
 


จารึกหลักศิลา ฉบับที่ ๑

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้

      “ธรรมโองการนี้ ข้าฯ ได้ให้จารึกขึ้นไว้เมื่ออภิเษกแล้วได้ ๒๖ พรรษา ประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้าย่อมเป็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติให้สำเร็จโดยยาก หากปราศจากความเป็นผู้ใคร่ธรรมอย่างยิ่งยวด การใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด การตั้งใจฟังคำสั่งสอนอย่างยิ่งยวดความเกรงกลัวต่อบาปอย่างยิ่งยวด และความอุตสาหะอย่างยิ่งยวด ..

     “บัดนี้ ด้วยอาศัยคำสั่งสอนของข้าฯความมุ่งหวังในทางธรรม ความฝักใฝ่ใคร่ธรรมได้เจริญงอกงามขึ้นแล้วทุก ๆ วัน และจักเจริญงอกงามยิ่งขึ้นเรื่อยไปฯ..”3

      จากข้อความที่ยกมานี้ แม้เป็นข้อความในช่วงต้นของจารึก แต่ก็แสดงให้เห็นว่า มีพระราชหฤทัยมุ่งหวังในธรรมปฏิบัติเพียงใด (โดยเฉพาะเมื่อทรงก้าวเข้าสู่ปีที่ ๒๖ หลังจากราชาภิเษกแล้ว) ในด้านหนึ่ง ด้วยฐานะของความเป็นมหาราช สิ่งที่ทรงมุ่งหวังก็คือ การทำให้ประชาชนของพระองค์ แว่นแคว้นของพระองค์ผาสุก และในอีกด้านหนึ่ง เราย่อมจะเห็นได้ว่าทรงไตร่ตรอง (ธรรม) และทรงคำนึงถึงองค์ประกอบที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการประพฤติธรรมอยู่มากพอสมควร ทั้งนี้หากพิจารณาถึงข้อความบางตอนในศิลาจารึกหลักอื่น ๆ ก็จะยิ่งเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ในศิลาจารึกแห่งไพรัต (Minor Rock Edict III :Calcutta-Bairat) มีการกล่าวถึงความเชื่อในพระพุทธศาสนาและชีวิตสมณะ ซึ่งคาดว่าเป็นจารึกช่วงท้ายของรัชกาล มีเนื้อความที่แสดงว่าพระองค์ทรงเป็นอุบาสกผู้นับถือและปกป้องพระพุทธศาสนา
 
ภาพศิลาจารึกแห่งไพรัต
ภาพศิลาจารึกแห่งไพรัต


เนื้อหาศิลาจารึกแห่งไพรัต

     สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปิยทัสสี ราชาแห่งมคธ ได้ทรงอภิวาทพระภิกษุสงฆ์แล้วตรัสปราศรัยกับพระภิกษุสงฆ์ด้วยความปรารถนาดีขอให้ท่านจงมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขท่านได้กล่าวว่า : ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายท่านทั้งหลายย่อมทราบว่า ข้าพเจ้ามีความเคารพ เลื่อมใส และศรัทธา ในพระพุทธพระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสุภาษิต ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ก็ข้อที่โยมพิจารณาด้วยดีนั้น คือข้อที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะดำรงรักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ให้ได้ตลอดกาลนาน” ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธรรมเหล่านี้คือ :

     ๑. วินยสมุกฺกํส - หลักธรรมดีเด่นในพระวินัย
     ๒. อริยวาส - ความเป็นอยู่อย่างพระอริยะ
     ๓. อนาคตภย - ภัยอันจะมีในอนาคต
     ๔. มุนิคาถา - คาถาของพระจอมมุนี
     ๕. โมเนยฺยสุตฺต - พระสูตรว่าด้วยโมไนยปฏิปทา
     ๖. อุปติสฺสปญฺหา - ปัญหาของอุปติสสะ และ
     ๗. ข้อความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในราหุโลวาท อันว่าด้วยเรื่องมุสาวาท

     “ข้าแต่พระภิกษุผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีความปรารถนาในส่วนที่เกี่ยวกับธรรมบรรยายเหล่านี้ว่า ขอพระภิกษุและพระภิกษุณีทุกท่านที่ได้รับฟังพึงพิจารณาใคร่ครวญโดยสม่ำเสมอและจดจำไว้ แม้แต่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายก็ควรประพฤติเช่นเดียวกัน ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย จารึกนี้ได้ถูกเขียนขึ้นไว้ก็เพื่อให้ชนทั้งหลายได้เข้าใจความมุ่งหมายนี้”
 

     เมื่อพิจารณาโดยพื้นฐาน เราอาจแลเห็นว่า การที่ทรงจารึกหลักธรรมเหล่านี้ไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีพระราชประสงค์จะให้ความรู้แก่ประชาชนหรือสั่งสอนประชาชนให้อยู่ในธรรมเพื่อประโยชน์แห่งการปกครองรัฐให้สงบสุข แต่จากเนื้อความหลัก ๆ เราจะพบว่าในอีกด้านหนึ่งมีพระราชปรารภอย่างลึกซึ้งถึงการขัดเกลาจิตใจ (ทั้งของประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระองค์เองด้วย) ไปพร้อม ๆ กัน เสมือนหนึ่งจะทรงรำลึกถึงบุญและกุศลต่าง ๆ ที่ทรงปฏิบัติให้ชัดเจนขึ้น และเพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์นั้นชุ่มชื่น เพื่อให้การปฏิบัติธรรมของพระองค์นั้นก้าวหน้าขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในโลกเบื้องหน้าที่ทรงคำนึงถึง
 
วัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
วัดโพธิ์ศรี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

     และหากเราพิจารณากันโดยทิศทางดังกล่าวนี้ ก็ควรกล่าวได้ว่า แม้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ บำเพ็ญสมณธรรมของพระภิกษุสามเณรอย่างกว้างขวาง การทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ การส่งสมณทูตตลอดจนพระเถรานุเถระไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ (รวมตลอดถึงการปรับปรุงการปกครองให้มุ่งเน้นที่ประโยชน์สุขของประชาชนตลอดรัชสมัยเรื่อยมา) นั้น สาระสำคัญก็คือ “การปูพื้นฐานทางกุศลกรรม”ของพระองค์เองให้ถึงพร้อมตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวดด้วยนั่นเอง เพื่อให้พระราชหฤทัยของพระองค์ยิ่งสามารถโน้มเข้าไปสู่ “ธรรม” ได้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
 
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

      อย่างไรก็ดี การศึกษาพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราชโดยผ่านหลักฐาน คือ ศิลาจารึกในข้างต้นนี้ แม้เป็นเพียงตัวอย่างในส่วนเล็ก ๆ ก็ตาม แต่ในมติที่สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ไม่เคยละทิ้งก็คือ การเข้าไปสืบค้นประเด็นที่อาจตกหล่นหรือมีข้อแท้จริงบางประการที่ยังไม่ได้นำเสนอออกมาสู่โลกและสาธารณะให้มากที่สุด ซึ่งในกรณีของศิลาจารึกพระเจ้าอโศกนี้ ควรถือว่ามีประเด็นและเรื่องราวที่น่าสนใจศึกษาอีกไม่น้อย โปรดติดตามเรื่องราวที่จะนำมาเสนอตามโอกาสอันควร
 
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
พิพิธภัณฑ์วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

1 โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาต่างยอมรับกันว่า จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นมีหลงเหลือมาถึงปัจจุบันใน ๖ รูปแบบ รวม ๓๓ รายการด้วยกัน คือ ๑) พระราชโองการที่จารึกบนก้อนศิลาจำนวน ๑๖ จารึก ๒) พระราชโองการที่จารึกบนแผ่นศิลาเล็ก ๓ จารึก ๓) พระราชโองการที่จารึกบนเสาศิลา ๘ จารึก ๔) พระราชโองการที่จารึกบนเสาศิลาน้อย ๓ จารึก ๕) จารึกบนหลักศิลาที่ไม่ใช่พระราชโองการ ๒ จารึก และจารึกบนผนังถ้ำ ๑ จารึก
2 From: A. Cunningham (1876), Inscriptions of Asoka Vol.1: Corpus Inscriptionum Indicarum, Delhi Pillar Photolithographed, plate XVIII. อ้างถึงใน L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage ofSociological Assertions and Moral Guidelines, p.115-116.
3 From: A. Cunningham (1876), Inscriptions of Asoka Vol.1: Corpus Inscriptionum Indicarum, Delhi PillarPhotolithographed, plate XVIII. อ้างถึงใน L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage ofSociological Assertions and Moral Guidelines, p.105-107.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). จารึกอโศก รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย. สมุทรปราการ.สำนักพิมพ์ผลิธัมม์, ๒๕๕๒.
L. Suthisa (2016), Asokan Edicts : An Assemblage of Sociological Assertions and Moral Guidelines.
School of Buddhist Study and Civilization, Gautam Buddha University.
Romila Thapar, Aśoka and the Decline of the Mauryas, second edition, 1973, Chapter V, p.179-180.

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๘)


 
เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙
 


     ช่วงออกพรรษากลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็จะเริ่มเข้าฤดูกาลทอดกฐินต่อเนื่องภายใน ๑ เดือนจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ คือวันลอยกระทง และยังมีวันที่สำคัญยิ่งอีกวันหนึ่ง คือ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ศกนี้ ก็เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๑๓๒ ของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมารผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นหลักปฏิบัติธรรมตามคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เลือนรางหายไปนับจากวันที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปีมาแล้วในฐานะที่พวกเราเป็นศิษยานุศิษย์ต่างก็น้อมระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่และศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมคำสอนวิชชาธรรมกายและตั้งใจที่จะแสดงความกตัญญูบูชาธรรมแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ซึ่งเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา อันเป็นมงคลสูงยิ่ง ดังพุทธพจน์ที่ว่า

“ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง”

 

     วันนั้น มีเหล่ากัลยาณมิตรสาธุชนจากทั่วประเทศและอีกหลายท่านที่เดินทางมาจากวัดหรือศูนย์สาขาต่างประเทศรวมกันแล้วนับเรือนแสน ทุกท่านตั้งใจมาร่วมพิธีบำเพ็ญบุญตั้งแต่ภาคเช้าด้วยการตักบาตรคณะสงฆ์ภาคสายนั่งสมาธิ(Meditation)กลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญอย่างดีเยี่ยมภาคบ่าย ผู้มีบุญเข้าร่วมริ้วขบวนผ้าป่าธรรมชัยที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีความยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้โดยเจ้าภาพผู้มีบุญอัญเชิญผ้าป่าธรรมชัยเพื่อบูชาธรรมในวาระ ๑๓๒ ปี พระเดชพระคุณหลวงปู่ และส่งเสริมงานพระศาสนาทั่วไทยในภาคค่ำก็ร่วมกันสวดธัมมจักกัปปวัตนสูตรจน “ชิตัง เม” ได้ถึง ๔ ล้านจบในวันนั้น และเวียนประทักษิณ ณ บริเวณมหารัตนวิหารคดรอบพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ และจะพร้อมใจกันสวดจนครบเป้าหมายแสนจบต่อวัน ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) นี้
 

     ภาพประวัติศาสตร์การสร้างบารมีร่วมกันของทุกท่านยังประทับอยู่ในใจไม่ลืมเลือน อาทิภาพเยาวชนตัวน้อยทั้งที่สามารถเดินได้เองและที่พ่อแม่ช่วยอุ้มเข้าร่วมเดินในริ้วขบวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า บุคคลเหล่านี้ตั้งใจที่จะสืบทอดและค้ำจุนพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ให้สถิตสถาพรตลอดไปอีกยาวนานอย่างแน่นอน

     จากฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้พาท่านผู้อ่านย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็คือพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ คือ รัชกาลที่ ๑ ที่พระองค์มีพระราชศรัทธาจัดให้มีการทำสังคายนา และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงหลายฉบับ และสมัยของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงหลายฉบับเช่นกัน และมีกรณีพิเศษที่พระราชทานแก่พระอารามหลวงเพิ่มอีก ๑ ฉบับ คือ ฉบับเทพชุมนุม ที่มีคัมภีร์ ๑ ผูกระบุชื่อว่า “ธัมมกายาทิ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นหลักฐานจารึกเรื่องธรรมกายที่มีเนื้อหาชัดเจนสำหรับคัมภีร์ฉบับเทพชุมนุมนี้พระราชทาน

     โดยมีพระราชประสงค์ให้พระภิกษุสามเณรวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเอาไว้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นการที่มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า ธรรมกายเป็นของใหม่หรือมิได้ปรากฏหลักฐานมาก่อนนั้นย่อมไม่เป็นความจริง เพราะข้อแท้จริงปรากฏว่า ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบันฯ DIRI ได้พบหลักฐานรายละเอียดในคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงถึง ๒ รัชกาลในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ดังตารางด้านล่าง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา การน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งของมวลมนุษยชาติมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เรื่องธรรมกายนั้นเป็นสิ่งดีที่มีอยู่จริง มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่ยุคต้นสมัยรัตนโกสินทร์
 

     ในฉบับนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่สำคัญเกี่ยวกับ “ปฐมเทศนา”คือ พระสูตรธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ค้นพบในประเทศไทยอันเป็นดินแดนสำคัญส่วนหนึ่งของสุวรรณภูมิ ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างรอบด้านนั้น ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกซาบซึ้งและตระหนัก (Awareness) ในความสำคัญของสิ่งนั้นได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้จะไม่ลงรายละเอียดลึกเกี่ยวกับหลักการของ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” แต่จะขอมุ่งเสนอประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณคดี หลักฐาน “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ที่พบในประเทศไทยเป็นสำคัญ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องนั้นระบุว่า“พระธรรมจักร” หรือ “พระธรรมจักรศิลา” ที่มีการค้นพบเก่าแก่ที่สุดนั้น พบอยู่ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีจำนวนมากมายหลายชิ้น และแต่ละชิ้นมีการแกะสลักลวดลายที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้มีเรื่องราวการค้นพบและมีการเผยแพร่กล่าวอ้างถึงเป็นครั้งแรกในราวปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โดย Mr. L. Fournereau และต่อมา Mr. Pierre Dupont นักสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีชาวฝรั่งเศสนำไปศึกษาและเรียบเรียงขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) ในหัวข้อ“โบราณคดีมอญแห่งอาณาจักรทวารวดี” และต่อมาศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์โบราณคดีชาวฝรัง่ เศสคนสำคัญของโลก นำมากล่าวถึงเป็นบทความในวารสารทางวิชาการชื่อ Artibus Asiae เล่มที่ ๑๙ ตอนที่ ๓/๔ ซึ่งต่อมา ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และศาสตราจารย์ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้นำมาแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง
 

     กล่าวถึงท่าน ศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ นั้น ท่านไม่เพียงแต่เป็นนักประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ โดยทั่วไปเท่านั้น แต่ท่านยังเป็นผู้ค้นพบหลักฐาน “คาถาธรรมกาย” ที่จารึกเป็นอักษรเขมรโบราณอีกด้วย โดยภายหลังจากที่ค้นพบ “คาถาธรรมกาย” ใน พ.ศ. ๒๔๙๕ แล้วท่านได้นำมาศึกษาถอดความและเรียกชื่อคัมภีร์นั้นใหม่ว่า “ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา” (การอธิบายความหมายเกี่ยวกับธรรมกาย) ด้วย

     การค้นพบ พระธรรมจักรศิลา นั้น ควรกล่าวได้ว่ามีความสำคัญหลายประการ คือในด้านหนึ่ง การค้นพบนี้ทำให้เราทราบว่าพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาในสุวรรณภูมิตั้งแต่แรกจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ดังนั้นบริเวณพื้นที่องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม น่าจะเป็นพื้นที่สำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิ ประการต่อมาคือตัวของ “พระธรรมจักรศิลา” ดังกล่าวซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๕ ซ.ม. สูง ๑.๐๙ เมตร (รวมฐาน) นี้ มิได้มีเพียงลวดลายทางประติมากรรมธรรมชาติพืชพันธุ์สวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังปรากฏจารึกอักษรบาลีสั้น ๆ แบ่งเป็นตอน ๆ อยู่ทางด้านหน้าของตัวพระธรรมจักรด้วย ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ชเซเดส์ ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ตัวอักษรที่ใช้สลักลงบนศิลาทั้งหมดล้วนมีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรที่ใช้จารึกคาถา “เย ธมฺมา” ที่ค้นพบในบริเวณเดียวกันนี้อย่างมาก เพียงแต่ข้อความทั้งหมดที่พบบนพระธรรมจักรศิลานี้ มีความหมายแตกต่างออกไป
 

     สำหรับส่วนประกอบของ “วงล้อพระธรรมจกั ร” นั้น ประกอบด้วยสว่ นทีส่ ำคัญ ๓ส่วน คือ ส่วนของดุม กำ และกง เช่นเดียวกับในพระธรรมจักรศิลานั้นก็มีส่วนประกอบทั้ง ๓ ส่วนนี้อยู่ครบถ้วน แต่สิ่งที่เป็นพิเศษกว่านั้นก็คือ ในพระธรรมจักรศิลาอายุเก่าแก่กว่า ๑,๔๐๐ ปีนี้ มีข้อความที่แสดงถึง “หลักการ”(Principle) หรือ “องค์ธรรม” (Dhamma) ที่สำคัญแห่ง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เช่นเดียวกับที่ชาวพุทธเราได้เรียนรู้มาอย่างชัดเจน กล่าวคือ

     ๑) ในส่วนของ “กง” นั้น ปรากฏข้อความจารึก ๓ ข้อความ คือ สจฺจญาณํ   (การรู้ความจริง) กิจจญาณํ (การรู้กิจที่ต้องทำ)กตญาณํ (การรู้กิจที่ทำแล้ว)

     ๒) ในส่วนของ “กำ” นั้น ปรากฏข้อความที่เกี่ยวกับอริยสัจ (ความจริง ๔ประการ) และ มรรค (วิธีการดำเนินไปสู่ความหลุดพ้น) ดังต่อไปนี้

          ๑. ทุกขสจฺจํ (ความจริงแห่งทุกข์)
          ๒. ทุกขสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ (การกำหนดรู้ทุกข์)
          ๓. ทุกขสจฺจํ ปริญญาตํ (การกำหนดรู้ทุกข์นั้นแล้ว)
          ๔. สมุทยสจฺจํ (การรู้บ่อเกิดแห่งทุกข์)
          ๕. สมุทยสจฺจํ ปหาตวฺวํ (การละเหตุแห่งทุกข์)
          ๖. สมุทยสฺส ปหีนํ (การละเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว)
          ๗. นิโรธสจฺจํ (ความจริงแห่งการดับ)
          ๘. นิโรธสจฺจํ สจฺฉิกาตวํ (ความจริงแห่งการดับที่ต้องทำให้แจ้ง)
          ๙. นิโรธสจฺจํ สจฉิกตํ (ความจริงแห่งการดับที่ได้ทำให้แจ้งแล้ว)
          ๑๐. มคฺคสจฺจํ (ความจริงแห่งมรรค)
          ๑๑. มคฺคสจฺจํ ภาเวตฺตวํ  (ความจริงแห่งมรรคที่ต้องทำให้เกิดขึ้น)
          ๑๒. มคฺคสจฺจํ ภาวิตฺตํ (ความจริงแห่งมรรคที่ทำให้เกิดขึ้นแล้ว)
          ๑๓. นิยฺยานิกเหตุทสฺสนา (การเห็นจุดหมายคือการดับ)
          ๑๔. ธิปเตยฺยภาเวนมคฺคสจฺเจน (การดำเนินไปสู่จุดนั้นคือการดับ)
          ๑๕. นิยฺยานิกเหตุทสฺสนา (ซ้ำข้อความข้างต้น)

     ๓) ในส่วนของ “ดุม” ชั้นนอกและชั้นใน มีปรากฏข้อความเรียงต่อกันดังนี้

          ๑. ติปริวัฏฏ์  ๒. ทวาทสาการํ   ๓. ธมฺมจักกํ    ๔. ปวตฺติตํ    ๕. ภควตา (ดุมชั้นนอก)   และ ๑. สจฺจกิจฺจกตญาณํ  ๒. จตุธา จตุธา กตํ  ๓. ติวฏฏํ ทฺวาทสาการํ  ๔. ธมฺมจกฺกํ   มเหสิโน (ดุมชั้นใน)

     การปรากฏข้อความบนจารึกในวงล้อพระธรรมจักรดังกล่าวนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ให้ความเห็นไว้อย่างชัดเจนว่า“มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” และถูกสร้างขึ้นเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ข้อความในจารึกคือข้อความที่เกี่ยวข้องกับอริยสัจ ๔ประโยชน์แห่งมรรค และญาณ ๓ ประการ

     ซึ่งเป็นลักษณะของพระธรรมจักรโดยตรงขณะเดียวกันข้อความที่ปรากฏบนจารึกนี้คือ“คาถา” ที่มิได้ปรากฏอยู่ในที่ใด ๆ นอกจากในหนังสือสารัตถสมุจจัยและในปฐมสมโพธิกถาแต่สิ่งที่ควรกล่าวถึงไว้เป็นพิเศษก็คือ “อายุของตัวอักษรบนจารึกนี้ เห็นได้ชัดว่ามีอายุเก่าแก่กว่าข้อความในเอกสารหรือหนังสืออื่นใดทั้งหมด แม้แต่สารัตถสมุจจัยก็ดี หรือในภาณวารก็ดี แม้ว่าจะมีข้อความลักษณะเดียวกันนี้ (แต่) ก็น่าจะแต่งขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าปรากรมพาหุแห่งลังกา ซึ่งอยู่ในระหว่างครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๑๘”ทำให้สามารถกล่าวได้ว่าธรรมจักรศิลานี้ต้องเป็นหลักฐานจารึกที่มีความเก่าแก่กว่าหลักฐานอื่นใดที่แสดงข้อความในลักษณะเดียวกัน

     ผู้เขียนและคณะนักวิจัยเห็นว่า ประเด็นที่สำคัญกว่าความเก่าแก่ของธรรมจักรศิลาและข้อความที่ค้นพบก็คือความสอดคล้องกันของข้อความบนธรรมจักรศิลากับพระธรรม-เทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในเรื่อง “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้เขียนได้นำข้อความในธรรมจักรศิลาไปศึกษาเชื่อมโยงกับเนื้อหาในพระธรรมเทศนาและเอกสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ทำให้สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ข้อความในธรรมจักรศิลานี้ แท้จริงแล้วก็คือหลักธรรมที่เป็นเครื่องนำพาไปสู่การเข้าถึงพระธรรมกายในภาคปริยัตินั่นเอง

     ด้วยข้อสรุปดังกล่าวนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า พระพุทธศาสนาได้รับการเผยแผ่เข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิแถบนี้จริง ด้วยลักษณะและความเก่าแก่ของตัวอักษรทำให้เราสามารถศึกษาย้อนไปถึงการมีอยู่ของอาณาจักรเก่าแก่ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง เช่นอาณาจักรมอญแห่งทวารวดี อาณาจักรปยูแห่งศรีเกษตรหรืออาณาจักรฟูนันที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมอินโดจีน ซึ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งถูกถ่ายทอดมายังดินแดนสุวรรณภูมิมิใช่สิ่งใหม่ หากแต่ได้รับการสืบทอดกันต่อมาอย่างยาวนานนับพันปีแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสอนและหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องธรรมกาย

     ดังนั้น การได้โอกาสร่วมสวดสาธยายธรรมของพุทธบริษัทในยุคของเรา คือ “พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร” นี้ เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่ง หากเปรียบไปแล้วก็เท่ากับเป็นการร่วมกัน “บันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์” อีกหน้าหนึ่งให้แก่พระธรรมจักรศิลา เสมือนว่าธรรมจักรศิลานั้นได้หมุนมาสู่ยุคของเรา เช่นเดียวกับที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมารได้กล่าวแสดงธรรมไว้เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ มีใจความตอนหนึ่งว่า ปฐมเทศนาบทธัมมจักกัปปวัตนสูตรนี้ “เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกนัก มิใช่ธรรมพอดีพอร้าย และธรรมนี้จะเป็นตำรับตำราของพุทธศาสนิกชนสืบต่อไปด้วย..”

ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ชำระและแปล (พิมพ์ครั้งที่ ๒) พระนคร, ๒๕๐๓.
พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว), ธัมมจักกัปปวัตนสูตร กรุงเทพฯ : วัดพระธรรมกาย, ๒๕๓๗.
ชีวประวัติและอมตเทศนา พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ฉบับสมบูรณ์ กรุงเทพฯ : วัดปากน้ำ, ๒๕๔๐.
ภาพอักษรตัวเขียน อักษรปัลลวะ โดยความเอื้อเฟื้อจากท่านอาจารย์ชะเอม แก้วคล้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย


หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๗)



เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
 

     เดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นเดือนสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับมหาปูชนียาจารย์ ในฐานะที่พวกเราเป็นศิษยานุศิษย์ต่างก็น้อมระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่และตั้งใจแสดงความกตัญญูบูชาธรรมในวันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย โดยร่วมกันเจริญสมาธิ(Meditation) ๙๙ ชั่วโมง เนื่องในโอกาส ๙๙ ปี แห่งการบรรลุธรรมของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ท่านตั้งใจสละชีวิตนั่งสมาธิในอุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๖ กันยายน) และทุกท่านยังได้ร่วมกันสวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ครบ ๒,๐๐๐,๐๐๐ จบ เพื่อบูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์ พระมหาเจดีย์พระพุทธเจ้าล้านพระองค์ และตั้งใจที่จะร่วมกันสวดให้ได้ ๔,๐๐๐,๐๐๐ จบ ภายในวันลอยกระทง (เพิ่มเป็น ๕,๕๕๕,๕๕๕ จบ)
 

     นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายนที่ผ่านมา ก็เป็นวันคล้ายวันละสังขารของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ผู้สืบสานหลักการปฏิบัติหนทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ จนสืบทอดวิชชาธรรมกายมาถึงพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) องค์สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ( DIRI ) อีกด้วย

    ฉบับนี้ ผู้เขียนจะขอพาท่านผู้อ่านย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) สมัยนั้นมีกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหมื่นพรหมสมพัตสรหรือนายมี มหาดเล็กในรัชกาล ซึ่งบรรยายถึงพระราชหฤทัยเลื่อมใสพระพุทธศาสนาของพระองค์ไว้ดังตอนหนึ่งว่า

"ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด เวียนแต่ตรัสถามไถ่ให้ใฝ่ฝัน

ถึงวัดนั้นวัดนี้เป็นนิรันดร์ ถึงเรื่องปั้นเขียนถากสลักกลึง"
 
วัดเทพธิดารามวรวิหาร
วัดเทพธิดารามวรวิหารสร้างปี พ.ศ. ๒๓๗๙
ภาพจาก www.woodychannel.com

วัดราชนัดดารามวรวิหาร
วัดราชนัดดารามวรวิหารสร้างปี พ.ศ. ๒๓๘๙
ภาพจาก www.rattanakosinontour.weebly.com

วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร
วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารสร้างปี พ.ศ. ๒๓๙๐
ภาพจาก http://watthailands.blogspot.com/2013/07/blog-post.html

     นับว่าในรัชสมัยนั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชกรณยีกิจส่งเสริมทั้งทางด้านถาวรวัตถุคือ ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ไว้ถึง ๗๓ วัด โดยมีวัดที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างใหม่ ๓ วัด และทรงสร้างคัมภีร์ต่าง ๆ ทดแทนคัมภีร์ที่สูญหายจากภัยสงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาและในพุทธศักราช ๒๓๘๕ โปรดเกล้าฯ ให้พระเถระผู้ใหญ่ไปสืบทอดพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาและอัญเชิญพระคัมภีร์ปิฎกจำนวน ๔๐ คัมภีร์มาคัดลอกในสยาม ซึ่งใช้เวลาในการคัดลอกทั้งหมด ๑ ปี แล้วจึงอัญเชิญกลับ นอกจากนี้ยังทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนปริยัติธรรมในพระอารามหลวง และครั้งที่มีการสอบบาลีสนามหลวง พระองค์มีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานที่สนามสอบถึง ๒๕ วัน ปรากฏว่าไม่มีภิกษุ-สามเณรท่านใดสอบผ่านชั้นเปรียญธรรมเอก โท ตรี และจัตวาเลย จึงทรงห่วงใยและทรงอาราธนาพระมหาเถระในยุคนั้นให้ช่วยกันส่งเสริมและกวดขันการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะทำให้ทุกรูปเห็นคุณค่าและตั้งใจเล่าเรียนศึกษา แล้วช่วยกันสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยั่งยืนยาวนาน ซึ่งพวกเราต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระราชจริยวัตรของพระองค์ที่ทรงเป็นห่วงและมีคุณูปการต่อพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน ดังเช่น การที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงพระไตรปิฎกขึ้นหลายฉบับ โดยเฉพาะฉบับเทพชุมนุมซึ่งมีเพียงชุดเดียว ที่พระราชทานแด่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารเพื่อให้ภิกษุ-สามเณรเอาไว้ศึกษาสืบไป


คัมภีร์ใบลานหลวงที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างมีดังนี้
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุมหรือฉบับรดนํ้าเทพชุมนุม
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุมหรือฉบับรดนํ้าเทพชุมนุม

     คัมภีร์ใบลานหลวงชุดนี้ สร้างสำหรับพระราชทานวัดพระเชตุพนฯ และต่อมารัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดการสำรวจและลงทะเบียนไว้และมีบันทึกชัดเจนว่า คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุมชุดนี้นำมาจากวัดพระเชตุพนฯ

     ต่อมา เมื่อทรงจดัการลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ก็ทรงส่งคืนและให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ ดังเดิม เพื่อสนองพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๓ ตราบเท่าทุกวันนี้
ภาพโดยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย DIRI / โดยการเอื้อเฟื้อจากวัดพระเชตุพนฯ
ภาพโดยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย DIRI / โดยการเอื้อเฟื้อจากวัดพระเชตุพนฯ

      ลักษณะของคัมภีร์ฉบับเทพชุมนุม มีใบลานปกหน้าและปกหลังตกแต่งด้วยลายรดนํ้าบนพื้นรักดำ เป็นภาพเทพชุมนุม คือภาพเทวดานั่งพนมหัตถ์ มีพัดรูปพุ่มข้าวบิณฑ์คั่นสับหว่าง มีลายดอกพุดตานใบเทศ ตกแต่งพื้นหลัง ตรงกึ่งกลางปกมีอักษรขอมบอกชื่อคัมภีร์อยู่ภายในกรอบ เป็นเส้นที่ชุบรักดำบนพื้นทองทึบ ภาพทั้งหมดอยู่ภายในกรอบที่ตกแต่งด้วยลายใบไม้เครือเถา อักษรข้อความในใบลานเป็นเส้นจารทั้งหมด ไม้ประกับคัมภีร์ตกแต่งประดับมุกบนพื้นรักดำ ลายช่อดอกไม้คล้ายดอกลำดวน มุกที่ประดับเป็นมุกไฟ มีสีเหลือบแดง สีฟ้า และสีเขียว ลายทั้งหมดอยู่ภายในกรอบ ที่กรอบเขียนลายคล้ายลายฮ่อ ไม้ประกับนี้บางครั้งเรียกว่าไม้ประกับประดับมุก

     คัมภีร์ฉบับเทพชุมนุม ของรัชกาลที่ ๓ นี้ ควรกล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่ปรากฏหลักฐานธรรมกายที่ชัดเจนที่สุด กล่าวคือ “คาถาธรรมกาย” ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นี้ประกอบด้วยคาถาธรรมกายมีความยาว ๒ หน้าลาน รวมกับส่วนที่เป็นบทอรรถาธิบายอีก ๑๔ หน้าลานจารเป็นภาษาบาลี โดยเฉพาะส่วนที่ควรกล่าวถึงคือเรื่องพระพุทธญาณและพระพุทธคุณต่าง ๆ ว่าเปรียบประดุจดั่งพระธรรมกาย
 
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าเอกหรือฉบับรดนํ้าดำเอก
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าเอกหรือฉบับรดนํ้าดำเอก
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าเอกหรือฉบับรดนํ้าดำเอก
ภาพโดยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย DIRI / โดยการเอื้อเฟื้อจากสำ นักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ

      คัมภีร์ใบลานหลวงพระไตรปิฎกฉบับรดนํ้าเอกหรือรดนํ้าดำเอกนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เก็บไว้ในหอพระเจ้าภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือว่าเป็นฉบับที่ทรงสร้างอย่างประณีตที่สุดแต่ต่อมาถูกฝนและปลวกกินจนใบลานชำรุดเสียหาย ดังนั้นในรัชกาลต่อมาจึงโปรดเกล้าฯให้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม
 
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าโท

     คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าโท คัมภีร์ใบลานหลวงพระไตรปิฎกฉบับนี้มีลักษณะเหมือนฉบับรดนํ้าดำเอกทุกประการแตกต่างกันตรงที่ฝีมือสร้างยังเป็นรองฉบับรดนํ้าดำเอก ลวดลายจึงดูหยาบกว่าและไม่ประณีต อักษรข้อความในใบลานเป็นเส้นจารทั้งหมด ไม้ประกับคัมภีร์ตกแต่งประดับมุกทำเป็นลายช่อดอกไม้คล้ายลายฮ่อ
 
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรดนํ้าแดง
 
     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างซ่อมเพิ่มเติมจนสมบูรณ์จาก ฉบับรดนํ้าแดง ในรัชกาลที่ ๒ ลักษณะคัมภีร์ใบลานปกหน้าและปกหลังตกแต่งด้วยลายรดนํ้าบนพื้นรักแดง
 
คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์
ภาพจากหนังสือ “คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์”
สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๔๖
 
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองน้อย

     สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คัมภีร์ใบลานหลวงผูกนี้มีปกหน้าและปกหลังปิดทองทึบตลอดใบลานและพบว่ามีคัมภีร์ชื่อพระธัมมกายาทิอยู่ดู้วยคัมภีร์ผูกดังกล่าวมี ๓๒ หน้าใบลาน บริเวณกึ่งกลางปกหน้ามีอักษรขอมบอกชื่อคัมภีร์เป็นอักษรขอม ย่อเส้นชุบหมึกดำ ใบลานที่ ๒ ตรงกึ่งกลางหน้าลานมีอักษรบอกชื่อคัมภีร์เป็นเส้นจารขอบลาน โดยทั้ง ๔ ด้านปิดทองทึบอักษรข้อความเป็นเส้นจารทั้งหมด นับได้ว่าคัมภีร์ใบลานหลวงชุดนี้มีหลักฐานธรรมกายที่ชัดเจนอีกชิ้นหนึ่ง

      จากฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจพระมหากษัตริย์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ คือ รัชกาลที่ ๑ ที่พระองค์มีพระราชศรัทธาจัดให้มีการทำสังคายนาและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างคัมภีร์ใบลานหลวงหลายฉบับ ดังรายละเอียดที่นำเสนอในฉบับที่แล้ว (เดือนกันยายน ตอนที่ ๑๖) ส่วนในฉบับเดือนตุลาคมนี้ ผู้เขียนจะกล่าวเน้นถึงคัมภีร์ใบลานหลวงของรัชกาลที่ ๓ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลายฉบับดังกล่าวข้างต้น และกรณีพิเศษที่พระราชทานแก่พระอารามหลวง คือ ฉบับเทพชุมนุมที่พระราชทานไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

     ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อความที่มีนักวิชาการบันทึกไว้ว่า “การสร้างคัมภีร์มีความถูกต้องและแม่นยำค่อนข้างสูง เพราะมีการตรวจทานกันหลาย ๆ ครั้ง จนสามารถนำไปใช้เป็นต้นฉบับแก่ฉบับอื่น ๆ ได้ และใช้คัดลอกต่อ ๆ กันมา ซึ่งถือเป็นมงคลยิ่งเพราะคัมภีร์ใบลานที่สร้างขึ้นโดยมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์นั้น จัดว่าเป็นหนึ่งในเอกสารโบราณ คือประเภทใบลานที่เรียกว่า “คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง”


       ดังนั้น ในปัจจุบันที่มีการกล่าวกันว่าธรรมกายเป็นของใหม่หรือมิได้ปรากฏหลักฐานมาก่อนนั้น แต่ผู้เขียนและคณะนักวิจัยสถาบัน DIRI ได้พบหลักฐานรายละเอียดของธรรมกายในคัมภีร์ใบลานฉบับหลวงตั้งแต่ยุคสมัยเริ่มต้นการสถาปนากรุงเทพฯ ถึง ๒ รัชกาล ดังตารางข้างต้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า หลักฐานธรรมกายนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงมาตั้งแต่ยุคนั้น ขณะเดียวกันหลักฐานที่มีอยู่จริงของคัมภีร์เหล่านั้นก็สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับหลักฐานอื่น ๆ เช่น คัมภีร์ธรรมกาย อักษรธรรมล้านนา วัดป่าสักน้อย จ.เชียงใหม่และหลักฐานธรรมกายใน คัมภีร์มูลกัมมัฏฐานอักษรล้านนา ที่วัดป่าเหมือด จ. น่าน ตลอดจนหลักฐานธรรมกายที่พบในเอเชียอาคเนย์ตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย และในส่วนของการค้นพบหลักฐานดังกล่าวนี้ ทางผู้เขียนและนักวิจัยของสถาบันฯ DIRI จะตั้งใจศึกษาวิจัยลงรายละเอียดกันอีก โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาร่องรอยการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของชนกลุ่มต่าง ๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลกเพราะยิ่งมีการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดเอาจริงเอาจังมากเพียงใด ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งของมวลมนุษย์มากยิ่งขึ้น
 
 


อ้างอิง

     ๑. บทบรรยายสารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว “การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา” คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

     ๒. บทความวิชาการ คู่มือการลงทะเบียนบัญชีคัมภีร์ใบลานและหนังสือสมุดไทยของสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณกรุงเทพฯ ๒๕๕๙

หมายเหตุ

     ช่วงวันที่ ๙ กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปบรรยายเสวนาวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษ์พระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งได้นำเรื่องราวของการอนุรักษ์จากระบบดั้งเดิมที่ทำการสืบต่อโดยการเขียนหรือจารึกในเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน หนังสือไทย พับสา (ปั๊บสา) หรือในวัตถุอื่น ๆ เช่น ศิลาจารึก ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบันด้วยระบบการถ่ายไมโครฟิล์ม และพัฒนาต่อเนื่องมาถึงการถ่ายด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นวิธีการทำสำเนา หรือ Back up ได้หลาย ๆ ครั้ง ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้ยาวนาน และขยายผลการเผยแผ่ได้กว้างไกล

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๖)



เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
 
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ

      สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนได้นำเสนอผลงานวิจัยการค้นพบ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณที่ประเทศไทย ฉบับก่อนหน้านั้น ผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่า ท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวมาตลอด และผู้ใคร่ต่อการศึกษา นักวิชาการเมื่อได้อ่านบทความและรับทราบถึงข้อมูลที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลพร้อมหลักฐานที่นำเสนอแล้วนั้น ทุกท่านจะได้รับความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้นเพราะหลักฐานปรากฏบ่งชี้อย่างชัดเจนของคำว่า “ธรรมกาย” นั้น มีอยู่จริงทั้งฝ่ายพุทธเถรวาทและมหายานในประเทศไทย มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูงในสังคมไทยมานานไม่ต่ำกว่า๖๐๐ ปีแล้ว และยังมีผลงานวิจัยการค้นพบหลักฐานธรรมกายในต่างประเทศ ซึ่งสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) จะนำมาเสนอต่อไป

     ส่วนฉบับนี้จะเสนอรายละเอียดที่สำคัญของ หลักฐานธรรมกายในยุคสมัยรัตนโกสินทร์เนื่องด้วยทางสถาบันฯ DIRI ได้รับคำถามและความคิดเห็นหลายประเด็นจากท่านที่สนใจติดตามผลงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้ขยายความรู้เพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าการนำเรื่อง หลักฐานธรรมกายที่พบในประเทศไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ มากล่าวไว้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจยิ่งขึ้น

     การได้พบหลักฐานธรรมกายตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นถือว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญเนื่องจากข้อมูลในส่วนนี้เป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิที่เราสามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นคัมภีร์พุทธโบราณ ที่เป็นใบลานฉบับหลวง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์ถึง ๓ รัชกาลด้วยกันโดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๑ (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) นั้น ต้องถือว่าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โดยนับตั้งแต่ที่ทรงครองราชสมบัติเป็นต้นมา พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า “ฉบับสังคายนา” หรือ “ฉบับครูเดิม” นับจากบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ มีการรวบรวมพระไตรปิฎกหรือคัมภีร์ที่จารึกเป็นภาษาบาลีอักษรลาวอักษรรามัญ อักษรสิงหล ตลอดจนอักษรอื่นๆหลายฉบับ โดยนำมาตรวจชำระเทียบเคียงกันแล้วปริวรรตแปลเป็นอักษรขอม แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีพระราชปุจฉาถึงสถานะความถูกต้องของพระไตรปิฎกฉบับนั้นกับพระสังฆราช พระราชาคณะ ฐานานุกรม มหาเปรียญ รวมทั้งสิ้น๑๐๐ รูป ซึ่งคณะสงฆ์ได้ถวายพระพรว่า

      “ยังมีข้อความที่คลาดเคลื่อนอยู่มากจากการคัดลอกต่อ ๆ กันมาเป็นเวลานาน และบางครั้งที่มีสงครามในบ้านเมืองก็เป็นเหตุให้มีคัมภีร์สูญหายไปบ้าง” พระองค์จึงมีพระราชวินิจฉัยว่า เมื่อมีข้อความคลาดเคลื่อน จึงควรมีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นใหม่ ซึ่งการสังคายนามีขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๓๑
 

     เพื่อจะให้พระไตรปิฎกที่ชำระใหม่นั้นมีความสมบูรณ์ที่สุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระไตรปิฎกฉบับหลวงที่ทรงสร้างขึ้นมาให้ คณะสงฆ์ ๒๑๘ รูป และราชบัณฑิตอุบาสก ๓๒ คน มาร่วมกันตรวจชำระ โดยใช้วัดพระศรีสรรเพชญ (เดิมชื่อวัดนิพพานารามปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร) เป็นสถานที่ช่วยกันตรวจทานชำระแก้ไขคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับนี้ โดยใช้เวลาถึง ๕ เดือนจึงเสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๑ และสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวงับวรมหาสุรสีหนาทมีพระราชศรัทธารับเป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งพระไตรปิฎกชุดนี้ถูกจารลงบนใบลานรวมทั้งสิ้น ๓,๕๖๘ ผูก (๒๙๘ คัมภีร์) แบ่งเป็นพระวินัย ๕๐ คัมภีร์พระสูตร ๑๕๗ คัมภีร์ พระปรมัตถ์ ๕๖ คัมภีร์สัททาวิเสส ๓๕ คัมภีร์ ตัวใบลานมีลักษณะธรรมดา ตัวอักษรบอกชื่อคัมภีร์และข้อความในเส้นจารตกแต่งด้วยทองทึบและล่องชาดที่มีแบบอย่างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และหลายยุคก่อนหน้านั้น ทั้งนี้หลังจากสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นลงแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกขึ้นหลายชุดด้วยกัน ได้แก่

คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองทึบ

      เป็นฉบับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นหลังการสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นแล้ว

      โดยในการสร้างพระไตรปิฎกขึ้นนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จ้างช่างจารลงไปในใบลานเป็นอักษรขอม โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มีการตกแต่งคัมภีร์ลงรักปิดทอง ตัวใบลานปกหน้าและปกหลังปดิ ทองทึบตลอดทั้งใบลานห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึกและฉลากทอเป็นอักษรบอกชื่อคัมภีร์ทุกคัมภีร์เก็บรักษาไว้ในตู้พระไตรปิฎกประดับมุกในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
 
 


คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองใหญ่
 

      แต่เมื่อมีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองทึบเพิ่มขึ้นอีกในรัชกาลต่อ ๆ มา จึงเรียกพระไตรปิฎกฉบับทองทึบนี้ใหม่ว่า “ฉบับทองใหญ่” ตัวใบลานปกหน้าและปกหลังปิดทองทึบตลอดทั้งใบลาน ใบลานที่สองมีอักษรจารบอกชื่อคัมภีร์ ตั้งแต่ใบลานที่ขึ้นต้นข้อความเรื่อยไปจนจบข้อความหรือจบผูก เป็นอักษรเส้นจารเหมือนกัน ตัวไม้ประกับปิดทองทึบ

     พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่มีทั้งหมด ๓๕๔ คัมภีร์ รวมมีหนังสือใบลานทั้งสิ้น ๓,๖๘๖ ผูก ประกอบด้วยพระวินัย ๘๐ คัมภีร์ พระสูตร ๑๖๐ คัมภีร์ พระอภิธรรม ๖๑ คัมภีร์ และสัททาวิเสส ๕๓ คัมภีร์

คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับรองทรงหรือฉบับข้างลาย
 

      เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มขึ้นอีก ๒ ชุด เพื่อใช้ในการสอบพระปริยัติธรรมในกรมราชบัณฑิต ซึ่งตามบัญชีปรากฏว่ามีจำนวนทั้งสิ้น ๓๐๕ คัมภีร์ คือ พระสูตร ๑๕๘ คัมภีร์ พระปรมัตถ์ ๖๕ คัมภีร์ พระวินัย ๕๒ คัมภีร์ และสัททาวิเสส ๔๐ คัมภีร์ รวมเป็นหนังสือใบลาน ๓,๖๔๙ ผูก

คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองชุบ
 

      เป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกฉบับหนึ่งที่สร้างขึ้นในรัชสมัยเดียวกัน แต่มีเพียง ๓๖คัมภีร์ ได้แก่ พระวินัย ๓๕ คัมภีร์ และสัททาวิเสส ๑ คัมภีร์

      สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พระไตรปิฎกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ ถือเป็นพระไตรปิฎกที่เก่าแก่ และมีความสมบูรณ์ ซึ่งพระไตรปิฎกใบลานเหล่านี้บรรจุเรื่องธรรมกายเอาไว้หลายต่อหลายแห่งด้วยกัน แม้ในรัชกาลที่ ๒ และโดยเฉพาะในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่สำคัญ คือ “ฉบับเทพชุมนุม” ที่เก็บรักษาไว้ในหอพระไตรปิฎกจตุรมุขของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ซึ่งอยู่ในเขตพุทธาวาสนั้น ก็เป็นพระไตรปิฎกใบลานที่เก่าแก่อันบรรจุเรื่องราวของคาถาธรรมกายไว้อย่างบริบูรณ์เช่นกัน ซึ่งรายละเอียดของคาถาธรรมกายที่สำคัญนั้นผู้เขียนจะขอนำไปกล่าวไว้ในฉบับหน้า



      หมายเหตุ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ผู้เขียนติดศาสนกิจ จึงไม่สามารถเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อประชุมร่วมกับศาสตราจารย์ริชาร์ด กอมบริท ในการส่งเสริมกองทุนการเรียนการสอนบาลีศึกษา จึงมอบหมายให้ กัลฯวรรณี ปิยะธนศิริกุล รองเลขาธิการฝ่ายบริหารและการบัญชี พร้อมด้วยคณะ คือดร.พอล แทรปฟอร์ด กัลฯธนภรณ์ แซ่เช็งและ กัลฯวรนันท์ ทอมสัน เดินทางไปร่วมประชุมแทน



หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๑๕)




เรื่อง : พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) และคณะนักวิจัย DIRI
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

 

      สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนนำเสนอบทความ “การค้นพบหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณในประเทศไทย” ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวคือ คณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ได้ทำการสืบค้นศึกษาวิจัยจนพบ หลักฐานร่องรอยธรรมกาย จากหลักศิลาจารึก จารึกลานเงิน เอกสารตัวเขียนประเภทสมุดไทย คัมภีร์พุทธโบราณที่จารลงในใบลาน ซึ่งหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณเหล่านั้น ที่ถูกจารด้วยอักษรเขมรโบราณ อักษรขอมไทย อักษรธรรม และอื่น ๆ ทั้งที่เป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาไทย ซึ่งมีมากถึง ๑๔ ชิ้นแล้วนั้น ทางสถาบันวิจัยฯ (DIRI) ก็ยังคงสืบค้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้หลักฐานเพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ก็ได้พบหลักฐานธรรมกายจากแหล่งข้อมูลในต่างประเทศอีกหลายแห่งทีเดียว เช่น ในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา เป็นต้น
 
ช่วงที่เดินทางไปกัมพูชา เพื่อสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ได้ไปกราบสักการะสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ ที่วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญซึ่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศได้รับความเมตตาให้ใช้อาคารภายในวัดเป็นที่ทำการ เพื่อเก็บรักษาอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ
ช่วงที่เดินทางไปกัมพูชา เพื่อสืบค้นหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ ได้ไปกราบสักการะสมเด็จพระสังฆราชเทพวงศ์ ที่วัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ
ซึ่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศได้รับความเมตตาให้ใช้อาคารภายในวัดเป็นที่ทำการเพื่อเก็บรักษาอนุรักษ์คัมภีร์โบราณ

     ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะได้รับเชิญจาก ศาสตราจารย์เคทครอสบี (Prof. Kate Crosby) แห่งมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ให้เข้าร่วมประชุมในช่วงวันที่ ๕-๘ กรกฎาคม ในหัวข้อเรื่อง “กรรมฐานแบบโบราณตามคติพุทธเถรวาท Conference on Traditional Theravada Meditation” ณ ห้องประชุมของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ “École Française d’ Extrême - Orient, Siem Reap Cambodia” (EFEO) ซึ่งมีนักวิชาการพุทธศาสนาจากนานาชาติ อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เม็กซิโก และราชอาณาจักรกัมพูชา
 
สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์กัมพูชาร่วมบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม ถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ณ ลานหน้าพระราชวังหลวงและเมตตาให้ผู้เขียนกับคณะเข้าร่วมพิธีดังกล่าวนี้ด้วย
สมเด็จพระสังฆราชและคณะสงฆ์กัมพูชาร่วมบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม ถวายเป็นพระราชกุศล
แด่สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ณ ลานหน้าพระราชวังหลวงและเมตตาให้ผู้เขียนกับคณะเข้าร่วมพิธีดังกล่าวนี้ด้วย

     บรรยากาศจากการประชุมและร่วมกันอภิปราย (Workshop) แลกเปลี่ยนผลงานซึ่งกันและกันในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า วงการศึกษากรรมฐานแบบโบราณทางวิชาการเช่นนี้ยังไม่กว้างขวาง ซึ่งถือได้ว่า นักวิชาการกลุ่มนี้เป็นเสมือนผู้ร่วมกันยกระดับบุกเบิก (Pioneering) เพราะสิ่งที่นักวิชาการทุกท่านวิพากษ์กันเกี่ยวกับประเด็นนี้ก็คือ ในอาณาบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ นับแต่โบราณกาล มา องค์ความรู้เรื่องกรรมฐานแบบโบราณถือเป็นองค์ความรู้หลัก เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าซ่อนอยู่มากมาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันศึกษา วิจัย ค้นคว้าและอนุรักษ์เอกสารโบราณ ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตาม เพราะเรื่องของกรรมฐานแบบโบราณเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและควรเผยแผ่ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกที่น้อมนำมาปฏิบัติดังนั้นผู้เขียนจึงเล็งเห็นว่า นี้เป็นโอกาสดีของสถาบันวิจัยฯ (DIRI) ที่จะวางรากฐาน และสร้างความเข้าใจเรื่อง “ธรรมกาย” ในทางวิชาการอย่างเป็นรูปธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
 
บรรยากาศที่อบอุ่นในการประชุมทางวิชาการเรื่องกรรมฐานแบบโบราณตามคติพุทธเถรวาท
บรรยากาศที่อบอุ่นในการประชุมทางวิชาการเรื่องกรรมฐานแบบโบราณตามคติพุทธเถรวาท

     เมื่อผู้เขียนศึกษารายชื่อและผลงานของนักวิชาการที่มาร่วมประชุมและร่วมทำ Workshop ครั้งนี้ เห็นชัดว่า ทุกท่านล้วนมีผลงานเป็นนักวิชาการระดับแนวหน้าของโลกผู้เขียนและคณะจึงไม่มีความเห็นอื่นใด นอกจากตอบรับคำเชิญของท่าน ศาสตราจารย์เคทครอสบี ด้วยความยินดีและเต็มใจ แม้มีภารกิจมากในช่วงนี้ก็ตาม
 
ศาสตราจารย์บาส เทอร์วิล กำลังบรรยายเรื่อง “การปฏิบัติตามพุทธวิธีมุ่งสู่พระนิพพาน” โดยนำข้อมูลมาจากสมุดภาพโบราณ “ไตรภูมิพระร่วง”
ศาสตราจารย์บาส เทอร์วิล กำลังบรรยายเรื่อง “การปฏิบัติตามพุทธวิธีมุ่งสู่พระนิพพาน”
โดยนำข้อมูลมาจากสมุดภาพโบราณ “ไตรภูมิพระร่วง”

     เริ่มการประชุมตั้งแต่วันแรกก็มีเนื้อหาเข้มข้น โดยมีการนำเสนอจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) เช่น ศาสตราจารย์โอลิวีเยร์ เดอ บานอน ชาวฝรั่งเศส ผู้อำนวยการสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) สาขากัมพูชา ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องคัมภีร์ใบลานในกัมพูชามากว่า ๑๐ ปี พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นอีก ๒ ท่าน คือ คุณสุเพียบ (สุภาพ) และ คุณเลียง ก๊กอาน ที่ทำการสาธิตรูปแบบการปฏิบัติกรรมฐานแบบโบราณในกัมพูชาซึ่งทำให้ที่ประชุมรับทราบอย่างชัดเจน
 

พระสุธรรมญาณวิเทศ วิ. นำเสนอผลวิจัยเรื่อง
“การค้นพบหลักฐานธรรมกายในเอกสารโบราณของประเทศไทย”

     ศาสตราจารย์บาส เทอร์วิล ชาวดัตช์เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แม้เกษียณแล้วปัจจุบันท่านยังคงผลิตผลงานพุทธศาสนาทั้งด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะของชาติไทยและลาวอย่างต่อเนื่อง ในที่ประชุมนี้ท่านนำเสนอ “การปฏิบัติตามพุทธวิธีมุ่งสู่พระนิพพาน” โดยนำข้อมูลมาจากสมุดภาพโบราณ “ไตรภูมิพระร่วง” และมี ดร.แอนดรู สกิลตัน กับ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล นำเสนอผลงานการปฏิบัติกรรมฐานแบบโบราณของ ไทย ซึ่งเป็นแบบของ สมเด็จพระสังฆราชสุก
(ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม และมีบางส่วนที่สืบทอดมาจากวัดประดู่ทรงธรรม (วัดประดู่โรงธรรม) สมัยอยุธยา ที่ใช้เป็นหลักวิเคราะห์เรื่องกรรมฐานแบบโบราณ รวมถึงการนำเสนอกรรมฐานแบบโบราณของศรีลังกา เมียนมา ลาว และล้านนา เป็นต้น
 
ภาพศิลาจารึกพระธรรมกายวัดเสือ จังหวัดพิษณุโลก
ภาพศิลาจารึกพระธรรมกายวัดเสือ จังหวัดพิษณุโลก

     เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ผู้เขียนในนามสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และคณะจะได้นำเสนอผลงานจากการที่ได้สืบค้นหลักฐานธรรมกายจากเอกสารโบราณ ที่เกี่ยวกับกรรมฐานแบบโบราณในประเทศไทย จึงได้นำเนื้อหาข้อมูลที่ผู้เขียนเคยบรรยายในการจัดเสวนา “ถาม-ตอบเรื่องธรรมกาย ครั้งที่ ๓” ณ ห้องประชุมอาคาร ๑๐๐ ปี คุณยายอาจารย์ฯ มาใช้ ซึ่งครั้งนี้ก็ใช้เนื้อหาเดิมที่เป็นภาษาไทยแต่ปรับเปลี่ยนการนำเสนอเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ

     ผู้เขียนและคณะต่างปีติที่ได้ทำหน้าที่นำเสนอความจริงให้ปรากฏ จากผลวิจัยของสถาบันฯ (DIRI) ที่พบ หลักฐาน "ธรรมกาย" ในเอกสารโบราณครบทุกประเภท คือ ทั้งที่พบในศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือพับสารวมทั้งจารึกลานเงิน ซึ่งมีหลักฐานคำว่า “ธรรมกาย” ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน และมีอยู่จริงทั้งฝ่ายพุทธเถรวาทและมหายานในประเทศไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณ และเห็นได้ว่า “ธรรมกาย” เป็นที่รู้จักเเละได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูงมาไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี และนักวิจัยของสถาบันฯ (DIRI) อีกท่านหนึ่งคือ ดร.กิจชัย เอื้อเกษม ก็นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง กรรมฐานโบราณจากศิลาจารึกยุคสุโขทัย และหนังสือสิ่งพิมพ์โบราณ โดยเนื้อหาที่กล่าวถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนาเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงไปถึง “ธรรมกาย” อันเป็นที่พึ่งสูงสุดได้เช่นกัน

     เมื่อนำเสนอบทความพร้อมภาพประกอบเอกสารโบราณเสร็จสิ้นลง มีผลทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมต่างให้การยอมรับว่า “ธรรมกาย” นั้นมีจริง และต่างเสนอกันว่าเรื่องนี้ควรที่จะสืบค้นและศึกษาอย่างต่อเนื่องเพราะหลักฐานจากเอกสารโบราณที่นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น โดยเฉพาะศิลาจารึกก็มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ เเละผู้เขียนยังแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางสถาบันฯ (DIRI) ยังได้ทำการสำรวจแหล่งข้อมูลเพื่อสืบค้นหลักฐานธรรมกาย ในเขตพุทธโบราณของประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น ศรีลังกา เวียดนามและกัมพูชา เป็นต้น และเพื่อสร้างความเชื่อถือให้มากและหนักแน่นยิ่งขึ้น จึงเชิญคุณสุเพียบให้มาสาธิตการสวดคาถาพระธรรมกาย ตามที่มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธมฺมกายาทิ เพื่อให้กลุ่มนักวิชาการในที่ประชุมได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง และเห็นจริงว่า “ธรรมกาย” เป็นที่รู้จักในกรรมฐานแบบโบราณตามพุทธเถรวาท ในหลายแห่งตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้
 
คุณสุเพียบ ผู้เชี่ยวชาญอักษรเขมรโบราณ กำลังสาธิตการสวดคาถาพระธรรมกายที่มีในกัมพูชา ซึ่งคุณสุเพียบและคุณเลียง ก๊กอาน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันฯ (DIRI) ในการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในกัมพูชา
คุณสุเพียบ ผู้เชี่ยวชาญอักษรเขมรโบราณ กำลังสาธิตการสวดคาถาพระธรรมกายที่มีในกัมพูชา
ซึ่งคุณสุเพียบและคุณเลียง ก๊กอาน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันฯ (DIRI) ในการสืบค้นหลักฐานธรรมกายในกัมพูชา

     จากการประชุมทางวิชาการร่วมกันในครั้งนี้ มีผลที่ดีเกิดขึ้นนอกเหนือจากการเปิดตัวสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ให้เป็นที่รู้จักในวงวิชาการด้านการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณเพิ่มมากขึ้น คือทำให้สถาบันฯ (DIRI) มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเรื่อง หลักฐานธรรมกายในเอกสารโบราณร่วมกับนักวิชาการตะวันตก เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

     พอสรุปได้ว่า การที่ สถาบันฯ DIRI ได้นำเสนอผลงานวิจัยต่อที่ประชุม ๒ ชิ้น นั้นนับว่าเป็นการเริ่มวางรากฐานในวงวิชาการ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า คำว่า “ธรรมกาย” นี้มีอยู่จริง และให้ยอมรับว่ามีธรรมเนียมปฏิบัติที่มุ่งการบรรลุถึงธรรมกายและเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ซึ่งทางสถาบันฯ (DIRI) เชื่อว่าในภาวะปัจจุบันคงมีผลได้ในระดับหนึ่ง แต่จะต้องตระหนักและถือเป็นพันธกิจที่สำคัญในการมุ่งมั่นเกาะติดแวดวงวิชาการเพื่อทำความจริงให้ปรากฏแก่ชาวโลกสืบไป

ข้อสังเกต

     เมื่อผู้เขียนเดินทางกลับมาจากการสัมมนาทางวิชาการครั้งนี้แล้ว รู้สึกปลื้มปีติใจที่ได้เห็น วารสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีบทความทางวิชาการเรื่อง “พระจอมเกล้า” กับ “พระธรรมกาย” ในจิตรกรรมวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงผลงานวิจัยของผู้เขียนเมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ ที่ พระครูปลัดนายกวรวัฒน์(สุธรรม สุธมฺโม) จาก “คัมภีร์ธมฺมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม” และผลงานฉบับวิชาการที่เรียบเรียงโดย ดร.ชนิดา จันทราศรีไศล บ.ศ.๙ จากหนังสือ หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ
 
(ถ้าสนใจโปรดติดตามรายละเอียดได้จากวารสารตามภาพปกนี้)